ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาโลกของเราเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด ทำให้หลายคนต้องอัพเดตตัวเองแบบเร่งด่วน ในช่วงที่การทำงานจากบ้าน (work from home) และการเรียนจากบ้าน (study from home) กลายเป็นเรื่องปกติประจำวันไปแล้ว

การสื่อสารทางออนไลน์ไม่ได้จบแค่การเปิดจอคอมพิวเตอร์แล้วคุยกันได้เลยเหมือนการสื่อสารต่อหน้านะคะ โดยเฉพาะในการวิดีโอคอลล์เพื่อติดต่องาน การประชุมออนไลน์ หรือการเจรจาธุรกิจ ความชัดเจนและความเชื่อใจกันเป็นเรื่องจำเป็น ในฐานะคนทำงาน คุณมีเทคนิคช่วยให้การอยู่หน้ากล้องครั้งต่อไปดูโปรขึ้นหรือยัง?


สำหรับคนที่ต้องติดต่องานกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเรื่องงาน ธุรกิจ หรือภารกิจส่วนตัว นอกจากต้องคล่องเรื่องภาษาอังกฤษแบบมืออาชีพแล้ว การจะประชุมออนไลน์ได้อย่างมือโปร ความคล่องเรื่องเทคโนโลยีก็ส่วนหนึ่ง ความคล่องของภาษาก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่สำคัญคือเทคนิคการสื่อสารหน้ากล้องค่ะ

ช่วงปีที่ผ่านมา อ. ผึ้ง เข้าฟังประชุมและเทคคอร์สออนไลน์ร่วมกับชาวต่างชาติบ่อยกว่าปีก่อนๆ ได้เห็นทั้งตัวอย่างการพรีเซ็นต์งานที่มีทั้งเวิร์ก ไม่ค่อยเวิร์ก และที่สร้างความฮา (แบบไม่ตั้งใจ) ให้คนดูหน้าจอก็บ่อย เลยเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมปัญหาและสรุปวิธีแก้ไขออกมาเป็นเทคนิคง่ายๆ 3 ข้อ เพื่อช่วยให้คนทำธุรกิจและคนที่อยู่ในสายงานที่ต้องการความเป็นมืออาชีพได้ไปปรับใช้ การสอน การพรีเซ็นต์งาน หรือการประชุมธุรกิจผ่านวิดีโอคอลล์ครั้งต่อไปของเราจะได้ “ดูโปร” ยิ่งขึ้น

ภาษากาย

บทความวันนี้ไม่ได้คุยเรื่องเทคโนโลยีนะคะ โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นตัวไหนจะดีกว่า อันนี้เป็นเรื่องความถนัดและความชอบส่วนตัว แต่เมื่ออยู่หน้าจอแล้ว จะทำยังไงเพื่อสร้างความประทับใจและความรู้สึกเชื่อมั่นให้อีกฝ่ายได้ อันนี้เป็นหน้าที่ของ อ. ผึ้ง ในวันนี้ค่ะ

ตามสถิติวิจัยต่างประเทศ ในการประชุมหรือสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน คนเรามักสนใจภาษากาย บุคลิกโดยรวม และวิธีสื่อสารของผู้พูด ก่อนจะสนใจข้อมูล ตัวเลข สถิติ หรือความคิดเห็นที่สื่อสารออกมาเสียอีก

สำหรับบริษัทในต่างประเทศ การประชุมงานออนไลน์ หรือการสัมภาษณ์งานทางวิดีโอคอลล์เป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ถึงจะเป็นวิดีโอคอลล์ ความเป็นทางการก็ไม่ได้ลดลงนะ ยังไงก็ไม่ควรวางตัวสบายเกินไปแบบการวิดีโอคอลล์หาเพื่อนทางไลน์หรือทางเฟสบุ๊ค

อ. ผึ้ง มี 3 เทคนิคที่จะช่วยให้ภาษากายในการสื่อสารหรือพรีเซ็นต์งานของเราดูมั่นใจ และเป็นมือโปรมากขึ้นเมื่ออยู่หน้ากล้อง

1. ปรับหน้าจอให้ถูก

เวลานึกถึงการวิดีโอคอลล์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการโชว์หน้าตัวเองบนจอ ไม่ว่าจะจอมือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวิธีที่ผิดค่ะ

การคุยกันบนจอก็คล้ายกับการคุยกันตัวต่อตัว ถ้าเราเห็นเฉพาะใบหน้าของคนๆ นั้นลอยเต็มจอ ซูมชัดทุกรูขุมขน นอกจากจะทำให้รู้สึกผวา เอ๊ย…อัดอึดแล้ว ยังรู้สึกว่าการสื่อสารไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ

โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่เราคุยกับใคร ก็ต้องอยากเห็นภาพรวม (ที่ไม่ได้ลอยมาแต่หัว) ใช่ไหมคะ การสื่อสารต้องมีทั้งวัจนะภาษา และอวัจนะภาษา เทคนิคที่ดีกว่าการโชว์แค่ใบหน้า คือขยับกล้องออกไปให้เห็นลำตัวช่วงบนด้วย

การได้เห็นการเคลื่อนไหวของมือ ได้เห็นอากัปกิริยาของคนพูด ทำให้บรรยากาศการประชุมผ่อนคลายกว่าการนั่งจ้องหน้าและฟังเสียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการใช้มือประกอบการอธิบายเรื่องราว การเน้นข้อมูลสำคัญ อาจจะช่วยให้เข้าใจกันง่ายขึ้นกว่าด้วย

การปรับหน้าจอให้เห็นมุมกว้างขึ้นทำให้คนที่มองเราอยู่ไม่รู้สึกอึดอัด การคุยกันจะดูเป็นธรรมชาติกว่าด้วยค่ะ

‘ขยับกล้องออกไปให้เห็นลำตัวด้วย (ครึ่งตัว) ดีกว่าการเห็นเฉพาะใบหน้าค่ะ’

ทิปจาก อ. ผึ้ง

2. วางท่าทางให้ถูก

ท่านั่งมีผลกับความมั่นใจของเราเอง และส่งผลไปถึงผู้ฟังด้วยค่ะ อ. ผึ้ง จะแบ่งเป็นสองเรื่อง คือท่านั่งกับน้ำเสียง

หลายครั้งที่ อ. ผึ้ง สังเกตในที่ประชุมคือ หลายคนนั่งหลังงุ้ม ไหล่ห่อ คอยื่น ซึ่งเป็นข้อเสียหลักๆ 2 อย่างค่ะ (-_-!)

1. บุคลิกสำคัญ

การนั่งห่อไหล่ อาจทำให้เราดูเหมือนคนขาดความมั่นใจในตัวเอง และแน่นอนว่าส่งผลไปถึงความน่าเชื่อถือด้วย ถ้าเป็นการประชุมสำคัญ ขนาดคนพรีเซ็นต์งานยังไม่มั่นใจ แล้วคนฟังจะมั่นใจได้ยังไงคะ

วิธีแก้ของคนชอบนั่งหลังค่อม คือพยายามเอนตัวไปข้างหลัง พิงพนักเก้าอี้ การให้หลังชิดพนักเก้าอี้ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ทั้งเราเองและผู้ฟังก็จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วย 

แต่ท่าที่ชัวร์ที่สุดในทุกสถานการณ์ คือนั่งหลังตรง ยืดตัวขึ้น เปิดไหล่ ให้ซี่โครงขยายออก ศีรษะตั้งตรง เป็นการให้เกียรติทั้งตัวเราเองและคนที่เรากำลังคุยด้วยค่ะ

เวลานั่งหลังงุ้ม หรือนั่งห่อไหล่ น้ำเสียงที่เปล่งออกมาจะเบา และไม่มีพลัง

2. น้ำเสียงสำคัญ

การนั่งหลังตรง อกยกขึ้น ทำให้ซี่โครงขยายออก พอซี่โครงขยายก็ทำให้ลำตัวมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น และปอดก็มีเนื้อที่ในการขยายตัวเพิ่มขึ้น น้ำเสียงที่ส่งผ่านออกมาจะชัดเจน สดใส นี่คือเหตุผลที่เสียงที่เปล่งออกมาเวลานั่งหลังตรงจะฟังแล้วน่าเชื่อถือมากกว่าค่ะ

การวางท่าทางที่ดูมั่นใจ จะทำให้น้ำเสียงดูมั่นใจไปด้วย

Photo by Anna Shvets on Pexels.com

3. โฟกัสให้ถูก

ความเชื่อใจระหว่างกันมาจากการสบตาระหว่างสื่อสาร

เวลาที่ใช้วิดีโอคอลล์ เรามักเห็นทั้งคนที่เราคุยด้วย และเห็นตัวเราเองในจอด้วย แต่ปัญหาที่ อ. ผึ้ง เจออยู่เรื่อยๆ คือ หลายคนมักจะมองแต่ภาพตัวเอง แทนที่จะมองกล้องหรือมองคู่สนทนา

ลองนึกภาพดูว่าถ้าคนที่เราคุยด้วยเห็นสายตาเราชำเลืองมองไปทางอื่นตลอดเวลา เขาจะรู้สึกยังไง ถึงแม้เราจะไม่ได้ตั้งใจหลบตาเขา แต่การมองภาพตัวเองบ่อยๆ ก็ทำให้เราดูไม่เป็นมือโปร และสุดท้ายใครจะอยากฟังสิ่งที่เราพูด

วิธีแก้คือ ตรวจเช็คความเรียบร้อยของตัวเองหน้ากระจกให้พร้อมก่อนเริ่มวิดีโอคอลล์ค่ะ เวลาประชุมจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องคอยกังวลว่าเสื้อผ้าหน้าผมจะโอเคไหม 

จำไว้ว่า การคุยพร้อมสบตาคนที่เราคุยด้วยช่วยสร้างความเชื่อใจและไว้วางใจกันและกัน แต่การคุยแบบหลบสายตาจะลดความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เราพูดไปทันที

สรุปแล้วก็คือ

3 เทคนิคสำคัญของ อ. ผึ้ง ในการประชุมแบบวิดีโอคอลล์ให้ดูเป็นมือโปรก็คือ การให้ความสำคัญกับ น้ำเสียง ท่าทาง และสายตา ซึ่งก็คือการเช็คความพร้อม 3 ข้อ ปรับหน้าจอให้ถูก วางท่านั่งให้ถูก และโฟกัสสายตาให้ถูก

สำหรับคนทำงานและทำธุรกิจ โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ อย่าลืมว่า ‘วิธี’ การสื่อสารของเรามีพลังพอๆ กับ (หรือมากกว่า) สิ่งที่เราสื่อสารออกไปเลยทีเดียว การปรับภาษากายให้ถูกต้องช่วยเพิ่มความเชื่อใจและไว้วางใจต่อกันได้แน่นอนค่ะ อ. ผึ้ง คอนเฟิร์ม (^-^)

  

บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือนำไปดัดแปลงเพื่อเผยแพร่นะคะ

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: