หนึ่งในเรื่องหลักๆ ที่คนอยากเก่งภาษาอังกฤษต้องรู้ โดยเฉพาะคนที่พูดภาษาอังกฤษแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ (สักที) มาจากสาเหตุต่อไปนี้หรือเปล่า ถ้าใช่ ต้องรีบเปลี่ยนด่วนๆ เลยค่ะ
เคยเป็นกันไหม? พูดภาษาอังกฤษแล้วฝรั่งไม่เข้าใจ เสียงดังฟังชัดก็แล้ว ออก accent (สำเนียง) เต็มที่ก็แล้ว แถมใช้ภาษามือ (และเท้า) ประกอบด้วย เขาก็ยังทำหน้างงๆ ตกลงปัญหามันคืออะไร?
เรียนจากประสบการณ์จริง
อ. ผึ้งก็เคยค่ะ และปัญหาแบบนี้อาจจะกำลังเกิดขึ้นกับเด็กไทยหลายคน สมัย อ. ผึ้ง เรียนอยู่ปี 1 ตอนนั้นไปทำงานพาร์ทไทม์เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ตำแหน่ง receptionist หรือบางคนก็เรียกว่า front หรือภาษาไทยก็ “พนักงานต้อนรับส่วนหน้า”
สมัยป. ตรี อ. ผึ้ง เรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกวิชาภาษาอังกฤษ คิดว่าทักษะภาษาอังกฤษเราก็พอตัวระดับนึงละ แต่เรื่องลงสนามจริงกับฝรั่ง ยังไม่เท่าไหร่ เพราะการจะหาฝรั่งตัวเป็นๆ มาเป็นคู่ซ้อมยากมาก นอกจากคุยกับอาจารย์ฝรั่งในคลาสเรียนสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น
เราโตมากับโรงเรียนไทย ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์ ไม่มีอาจารย์ฝรั่งแลกเปลี่ยนเหมือนโรงเรียนไทยสมัยนี้ แน่นอนว่า สมัยนั้นยูทูปก็ยังไม่มี การสตรีมหนังต่างประเทศไม่ต้องพูดถึง
ออกเสียงผิด ชีวิตเปลี่ยน
เย็นวันหนึ่ง ขณะยืนทำงานหน้าฟรอนท์ มีแขกโรงแรมที่เป็นชาวบริติชกับชาวสิงคโปร์มาชวนคุย นานทีเดียว ตั้งแต่เรื่องดินฟ้าอากาศ สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ไปถึงเรื่องรอบๆ ตัว
บังเอิญว่าแขกทั้งสองคนเป็นกรรมการกีฬายิงปืน เย็นวันนั้นก็เพิ่งจบพิธีมอบเหรียญ มอบโล่ห์นักกีฬากันมา เราหันไปเห็นเข็มกลัดดอกไม้ที่เสื้อของเขาสวยดี ก็คุยต่อเลยว่า
“I like carnation.”
ได้ผลค่ะ จากที่คุยกันตอนแรก flow มาก อยู่ๆ แขกพากันอึ้งแป๊บนึง เราก็พูดซ้ำอีกรอบ “carnation” เขาก็ยังอึ้งอยู่ อ่ะ…อีกรอบละกัน เราชี้มือไปที่เข็มกลัดดอกไม้เขาด้วย
“คา-เน-ชั่น”
เขาก็เริ่มมองกันเลิ่กลั่กละ เราเลยพูดให้ช้าลงอีก
“คา…เน…ชั่น”
วินาทีนั้นเริ่มงงค่ะ ตกลงเขาไม่รู้จักชื่อดอกไม้ หรือเขาไม่เข้าใจสำเนียงเรา
โชคดีนิดนึงว่า ตอนนั้นปี 1 เริ่มรู้เรื่อง phonetics หรือ การออกเสียงภาษาอังกฤษ แบบเบสิคมาละ แต่ยังไม่เข้าใจกฎของมันเท่าไหร่ วิชานี้จะเรียนแบบจริงจังต้องเข้าปี 2 – 3 โน่น ตอนนั้นเราแค่พอรู้ว่า คำในภาษาอังกฤษต้องมีเสียงหนักเสียงเบา มีการเน้นพยางค์ ไม่ใช่เสียงหนักไปหมด
พอไหวตัวทัน เราเปลี่ยนใหม่
- ค้า-เน-เฉิ่น
- คา-เน้-เฉิ่น
- คา-เน-ชั่น
แขกฝรั่งตอบกลับว่า ตอนแรกเขานึกว่าเราพูดถึง “car – รถ” กับ “nation – ประเทศ” แป่ว…
สรุปคือดอกคาร์เนชั่น ต้องออกเสียงว่า “คา-เน้-เฉิ่น” เน้นพยางค์กลาง “เน้” และออกเสียงติดกันจ้า ไม่ต้องกลัวฝรั่งไม่เก็ต แล้วไม่ต้องไปเน้นเป็นคำๆ ให้เขา เพราะมันทำให้ความหมายเปลี่ยน
ทีนี้มาดูกันว่า ที่เล่าเรื่องดอกคาร์เนชั่นมาเนี่ย มันเกี่ยวกันยังไง คือต้องบอกว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการ “ตื่นรู้” ของ อ. ผึ้ง ที่ทำให้เราหันมาเห็นความสำคัญของการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ “ถูกต้อง”
สาเหตุคือแบบนี้ไง
อ. ผึ้ง และคนไทยอีกหลายๆ คนโตมากับการได้ยินการใช้ภาษาอังกฤษจากคนไทย มากกว่าจากเจ้าของภาษาเอง
คนไทยใช้ภาษาอังกฤษแบบทับศัพท์ แล้วปรับการออกเสียงให้เป็นแบบไทยๆ การใช้ซ้ำๆ อย่างแพร่หลาย ทำให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเกิดพฤติกรรม “เลียนแบบ” ไปด้วย
ยิ่งสมัยเด็กๆ โอกาสที่จะได้เห็นตัวอย่างที่ถูกต้องมีน้อยมาก พอได้เก่งคำศัพท์ เก่งแกรมม่า ก็เผลอทึกทักไปว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้เก่งด้วย แต่มันคือภาษาอังกฤษ “แบบไทยๆ” ค่ะ
ตัวอย่างคำแบบนี้มีเยอะค่ะ อย่างเช่น
- Salmon – แซลม่อน
- Molecule – โมเลกุล
- Error – เออเร่อ
- ฯลฯ
ไม่ผิด…แต่ก็ไม่ถูก
จริงๆ ถ้าเรายังคุยกับคนไทย ในบริบทไทยๆ การออกเสียงคำทับศัพท์แบบไทยๆ ก็โอเคค่ะ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเสมอไป ไม่งั้นจะเกิดปัญหาใหม่ว่า คุยกับคนไทยไม่รู้เรื่องอีก (แป่ว…)
แต่คีย์สำคัญของการคุยให้ฝรั่งรู้เรื่องคือ เราก็ต้องออกเสียงแบบฝรั่ง จริงไหมคะ?
สิ่งที่ อ. ผึ้ง เห็นคือ ความเข้าใจผิดๆ จากการเริ่มต้นผิดๆ ในอดีต อาจเป็นปัจจัยหลักที่กำลังรบกวนกระบวนการเรียนรู้ของหลายๆ คนอยู่ในตอนนี้ ทำให้การพัฒนาภาษาอังกฤษของเราเติบโตช้า หรืออย่างแย่ก็ชะงักไปเลย
ถ้าใครกำลังเจอปัญหาเพราะสาเหตุนี้อยู่ แล้วอยากรู้ทางออก ติดตามเทคนิคแก้ปัญหาการพูดไม่แล้วฝรั่งไม่เข้าใจในตอนที่สองนะคะ ^-^
บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain
2 ความเห็น