ปัจจุบัน การค้นหาความฉลาดเขาใช้วิธีไหนกันนะ? บทความที่แล้วเราคุยกันถึงนิยามแบบสั้นๆ ของไอคิว (IQ – Intelligence Quotient) และที่มาของการวัดไอคิว เรารู้แล้วว่าคนไอคิวสูงคือคนมีความฉลาดทางสติปัญญา สมองไว เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว เก่งการวิเคราะห์และแก้ปัญหา และคิดในเชิงตรรกะได้ดีเยี่ยม

ในบทความตอนสองนี้ เรามาดูว่า ปัจจุบันเรามีวิธีวัดไอคิวยังไง ถ้าอยากรู้ไอคิวตัวเองจะทดสอบออนไลน์ได้ไหม และข้อสอบแบบไหนถึงจะเรียกว่าน่าเชื่อถือที่สุด


ยังจำได้ใช่ไหมคะว่า ข้อสอบวัดไอคิวชุดแรกเริ่มถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อคนหา “เด็กไม่เก่ง” หรือ “เด็กเรียนอ่อน” แต่ปัจจุบันเราใช้การทดสอบเพื่อค้นหาระดับศักยภาพของสมองหรือระดับความฉลาดของคนทั่วไป

แต่เดิมข้อสอบวัดทักษะและความรู้จากสิ่งที่เด็กได้เรียนในห้อง หรือทักษะง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบัน นิยามของทักษะทางไอคิวกลับตรงข้ามโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ

การสอบวัดไอคิวในปัจจุบัน

ข้อสอบที่ใช้วัดระดับไอคิวของเด็กและผู้ใหญ่ทุกวันนี้ไม่ได้จับพวกเรามานั่งตอบคำถาม วาดรูป หรือชี้อวัยวะบนร่างกายแบบเด็กฝรั่งเศสสมัยก่อนแล้ว และไม่ใช่การวัดทักษะทางภาษา หรือคณิตศาสตร์ด้วย แต่ก็พัฒนามาจากแนวคิดเดียวกันค่ะ นั่นคือการวัดทักษะทางสมองของผู้สอบโดยตรง อย่างเช่น

  • การคิด วิเคราะห์
  • การเข้าใจมิติสัมพันธ์
  • การใช้เหตุผล
  • การแก้ปัญหา
  • ความไวในการประมวลผลของสมอง
  • ฯลฯ

ข้อสอบวัดระดับไอคิวจะไม่เกี่ยวกับ

  • ความรู้จากหนังสือหรือประสบการณ์
  • ความจำ
  • ทักษะที่ฝึกฝนได้

ความแม่นยำของผลสอบ

ปัจจุบันมีข้อสอบอีกหลายประเภทถูกออกแบบมาเพื่อใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นฉบับกระดาษ หรือฉบับออนไลน์ บางฉบับก็ไม่ได้มาตรฐานการออกแบบ บางฉบับก็ไม่ได้อ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่ทำออกมาเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อวัดระดับความสามารถเบื้องต้นของสมอง เพื่อใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน หรือเพื่อใช้ประกอบการรักษาโรคบางอย่าง

สำหรับใครที่รู้สึกคันไม้คันมือ จะเลือกทำข้อสอบออนไลน์ที่ให้บริการตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็สะดวกนะคะ แต่ต้องบอกก่อนว่า คะแนนเหล่านั้นอาจไม่เที่ยงตรง ไม่สะท้อนคำว่า “ไอคิว” ที่แท้จริง และอาจไม่สามารถนำไปใช้รับรองการทำงานหรือเทียบตามเกณฑ์สากลได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเกณฑ์การรับขององค์กรนั้นด้วย) เรียกว่าวัดเพื่อท้าทายประสิทธิภาพการคิดของตัวเอง และความบันเทิงล้วนๆ ซะมากกว่า

ขณะที่ค่าเฉลี่ยไอคิวของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 85 – 115 แต่ อ. ผึ้ง เคยเห็นคนที่ลองทดสอบทางออนไลน์และได้คะแนน 300 มาแล้วนะคะ ทำเอาไอน์สไตน์ตกกระป๋องเลยงานนี้

แต่สำหรับคนที่จริงจังกับการค้นหาระดับไอคิวของตัวเอง หรือต้องการผลวัดไอคิวที่แม่นยำ เพื่อนำผลรับรองไปใช้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะบางอย่าง ควรมองหาองค์กรที่ให้บริการวัดระดับไอคิวโดยมีมาตรฐานอ้างอิงเป็นสากลดีกว่า อย่างเช่น การทดสอบที่ถูกออกแบบและจัดสอบโดยองค์กรเมนซ่า (Mensa High IQ Society) ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับสมาชิกที่มีระดับไอคิวระดับ Top 2% เมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษ เมื่อปี 1946 เป็นองค์กรสนับสนุนด้านไอคิวความฉลาดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ข้อสอบมาตรฐานบางชุด ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าสามารถนำผลคะแนนนั้นมาเทียบเคียงกับระดับไอคิวได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเกณฑ์การรับรองของแต่ละองค์กรอีกเหมือนกัน

ข้อสังเกตสำคัญคือ ถึงแม้ผู้ให้บริการทดสอบไอคิวจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสอบ (ไม่ใช่ฉบับฟรี) ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสอบที่เขาใช้จะได้มาตรฐานเสมอไปนะคะ เพราะนอกจากเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้อิงในการออกข้อสอบแล้ว อีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญคือจะต้องมีการพิสูจน์ตัวบุคคล (ว่าเข้าสอบจริง และไม่ได้ส่งตัวแทนมา)

นอกจากนี้ ยังต้องมีผู้คุมสอบในสนามจริง และการจับเวลาอย่างเคร่งครัดก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ผลวัดระดับไอคิวจากข้อสอบออนไลน์ (ณ ปัจจุบัน) จึงไม่ถือว่ามีความแม่นยำเพียงพอ

ย้ำอีกทีค่ะว่า การสอบออนไลน์ใช้เพื่อประลองทักษะสมองของเราได้ แต่อาจไม่สามารถใช้เป็นผลคะแนนอย่างทางการได้

ประสบการณ์สอบตรงกับเมนซ่า

สมัยเด็ก อ. ผึ้ง เองก็เคยสอบวัดไอคิวเล่นๆ จากหนังสือบ้าง จากแบบฝึกหัดเล็กๆ ในห้องเรียนที่คุณครูแจกบ้าง เหมือนใครหลายๆ คน แน่นอนว่าความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ตัวเลขเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (และจำไม่ได้ด้วย)

แต่เมื่อโตขึ้น เส้นทางของเราก็โตตามด้วย จากประสบการณ์ตรงของ อ. ผึ้ง ในฐานะผู้เคยเข้าทดสอบไอคิวกับองค์กรเมนซ่าโดยตรงที่สหราชอาณาจักร (และปัจจุบันก็เป็นสมาชิกขององค์กรเมนซ่า และองค์กร Intertel High IQ Society ของอเมริกาแล้ว) ข้อสอบของเขาจะถูกออกแบบมาอย่างรัดกุม เที่ยงตรง และเป็นธรรม

ศูนย์สอบของเมนซ่าตั้งอยู่ในหลายเมืองใหญ่ๆ มีผู้คุมสอบ (ซึ่งเป็นคนในองค์กรเมนซ่าโดยตรงเท่านั้น) ระหว่างการทดสอบมีการจับเวลาในระดับโหดระทึก และถ้าไม่ได้หัวใจวายคาโต๊ะไปซะก่อน หลังสอบเสร็จผู้สอบจะได้รับผลคะแนนตามมาทางจดหมาย แต่ปัจจุบันใช้การประกาศผลแบบออนไลน์แล้วค่ะ

วัดไอคิว จำเป็นไหม?

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ช่วยให้เราเข้าใจว่า การวัดไอคิวคืออะไร และข้อสอบแบบไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน บางคนอาจมองว่าการวัดระดับไอคิวไม่ใช่การวัดความสำเร็จทั้งหมดของชีวิตสักหน่อย ซึ่งก็จริงค่ะ เพราะระดับความฉลาดของมนุษย์ยังมีอีกหลากหลายมิติ

คนมีระดับไอคิวสูงสะท้อนถึงความฉลาดในการเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นคนหัวไว คิดได้แม่นยำและเที่ยงตรง มักมองสถานการณ์ได้ขาด และมีแนวโน้มว่าจะแก้ปัญหาได้ดี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าคนๆ นั้นจะเป็นยอดมนุษย์ในทุกด้านของชีวิตด้วย

แต่การได้รู้ระดับศักยภาพสมองของตัวเอง ไม่ว่าจะในวัยผู้ใหญ่หรือเด็ก บางทีก็ช่วยให้เราได้หันมามองและตระหนักถึงจุดแข็งที่มีในตัว หรือเห็นจุดที่ขาดและควรเร่งพัฒนา 

ถึงแม้การมีไอคิวสูงไม่ใช่ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้โดยตรง ไม่เหมือนทักษะด้านภาษา ด้านกีฬา หรือด้านวิชาชีพอื่นๆ แต่การมีสมองดีก็เป็นเครื่องการันตีอย่างหนึ่งว่าคนๆ นั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เขาเลือก ไม่ว่าจะเป็นด้านใด (ซึ่งแน่นอนว่า ยังไงก็ต้องมีมิติอื่นๆ ของชีวิตที่เป็นองค์ประกอบชี้วัดความสำเร็จด้วย)

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ การสร้างโอกาสและการพาตัวเองไปอยู่สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้สมองเกิดการคิด วิเคราะห์ และเรียนรู้อยู่เสมอ เป็นสิ่งจำเป็นค่ะ สมองที่ถูกใช้งานบ่อยๆ ยังช่วยพาเราห่างไกลจากโรคความจำเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

สำหรับคนที่อยากเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางสติปัญญาอย่างละเอียด หรืออยากรู้เทคนิคการพัฒนาความคิดอย่างถูกต้อง หรืออยากรู้ประสบการณ์หลังเป็นสมาชิกองค์กรผู้มีไอคิวสูงอย่างเมนซ่าของ อ. ผึ้ง หรือมีข้อเสนออื่นใด สามารถฝากความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไว้ในคอมเมนต์ของบทความนี้ได้นะคะ

หากมีผู้สนใจมากพอ อ. ผึ้ง จะรวมรวบข้อมูลออกมาในรูปหนังสือเล่มหรือคอร์สเรียน เพื่อให้ความรู้อย่างละเอียดกับผู้สนใจพัฒนาศักยภาพสมองตัวเองให้ถึงขีดสุดค่ะ ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกความเห็นค่ะ


บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือเนื้อหาบางส่วนไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

1 ความเห็น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: