คราวก่อน อ. ผึ้ง คุยไว้เรื่องวิธีเสริมทักษะการอ่านเขียนภาษาอังกฤษของเด็กเล็ก จากที่ได้ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่น้องๆ วัยอนุบาลและประถมต้น ที่ตั้งโจทย์ว่าไม่ได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ แต่อยากให้เขาเก่งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือ อยากให้เขารักการอ่านด้วย ควรสอนด้วยวิธีไหน?
ในบทความที่แล้ว อ. ผึ้ง คุยเรื่องแนวคิดการสอนด้วยระบบ “Phonics” หรือ “โฟนิกส์” หรือการเรียนโดยใช้หลักการถอดรหัสเสียง คราวนี้จะคุยถึงอีกแนวคิดหนึ่งที่ฝรั่งนิยมใช้เหมือนกัน นั่นคือ “Sight words” ค่ะ
Sight Words – สอนด้วยคำศัพท์ที่เห็นบ่อย
คำว่า “Sight” หมายถึง การมองเห็น “Words” ก็คือ คำศัพท์ เพราะฉะนั้น “Sight Words” ก็คือ คำศัพท์ที่เรามองเห็น (บ่อยๆ) และบางคำอาจไม่เหมาะกับการจำด้วยเสียง (แบบโฟนิกส์) แต่เหมาะกับการจำด้วยการมองเห็นค่ะ
แนวคิดนี้เชื่อว่ามันจะมี “กลุ่มคำศัพท์” ที่เด็ก (ในแต่ละช่วงอายุ) จะได้เห็นซ้ำๆ โผล่ออกมาบ่อยๆ (ประมาณ 50%) ทั้งในการอ่าน และการเขียน ที่เด็กจะได้เจอในโรงเรียน และในชีวิตประจำวันของเขานี่แหละ
เราอยากให้น้องๆ จดจำคำศัพท์เหล่านี้ได้ทันที เป็นอัตโนมัติ แทนที่จะเสียเวลามาฝึกประสม (หรือแยกเสียง) พยัญชนะทีละตัวไปเรื่อยๆ
กลุ่มคำศัพท์ที่จัดเป็น Sight Words ที่ฝรั่งใช้อ้างอิงบ่อยๆ เวลาสอนภาษาอังกฤษก็คือ Dolch’s Sight Words กับ Fry’s Sight Words ทั้งสองแบบใช้หลักเดียวกัน คือ
เลือกคำศัพท์ที่เด็กๆ จะได้พบบ่อยในการอ่าน เขียน หรือเล่นในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลเลย
ตัวอย่างเช่นกลุ่มคำศัพท์ของ Dolch’s Sight Words จะมีอยู่ 220 คำ ที่ประกอบด้วยคำชนิดต่างๆ และอีก 95 คำ ที่เป็นนำนามโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น
- I
- You
- The
- Of
- Are
- Got
- Etc.
แต่เดี๋ยวก่อน! ไม่ใช่ว่าเข้าอนุบาลปุ๊บ ก็เรียนกัน 300 คำทันทีนะคะ คุณครูจะทยอยแบ่งคำศัพท์ออกมาสอนค่ะ โดยเลือกเฉพาะคำที่เหมาะสมกับอายุ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนเกรด 3 หรือประมาณชั้นประถม 3
การเรียนแบบ Sight Words คือการเรียนคำศัพท์ที่เด็กจะได้เห็นและใช้บ่อย
อ. ผึ้ง อารดา

ข้อดีของการเรียนระบบ Sight Words
กลุ่มคำศัพท์ที่มองเห็นซ้ำๆ ก็มีหลายคำที่ไม่ใช่จะใช้หลักการประสมเสียงแบบโฟนิกส์ได้ หรือถ้าได้ ก็ไม่เป๊ะ หรือไม่ง่าย ก็อย่าง “the”, “was”, “of” ซึ่งมันไม่ง่ายเหมือน “cat”, “rat”, “hat” เพราะฉะนั้นการใช้ลิสต์คำศัพท์ Sight words ไปเลย เป็นการทุ่นแรง และประหยัดเวลาแน่
และแน่นอนว่า เวลาเด็กอ่านหนังสือ แล้วเห็นคำศัพท์ที่ตัวเองรู้จัก ตรงนั้นก็ใช่ ตรงนี้ก็ใช่ เด็กจะมีความมั่นใจในการอ่านเพิ่มขึ้น เพราะคำศัพท์ที่คัดมาแล้วว่าต้องเจอบ่อยนี้ คิดเป็น 50% ของศัพท์ที่เด็กจะได้เห็นในชีวิตประจำวันของเขา
อ. ผึ้ง มองว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากสร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็กไปด้วยละก็ วิธี Sight words ก็น่าสนใจทีเดียว เพราะแต่ละครั้งที่เด็กหยิบหนังสือเรียน หรือนิทาน (เน้นว่าในระดับที่เหมาะสมกับวัยของเขา) ขึ้นมาอ่าน เด็กจะสามารถเข้าใจได้ประมาณครึ่งหนึ่งของแต่ละประโยคไปแล้ว แบบนี้จะได้ทั้งความสนุก และแรงจูงใจให้ยิ่งอยากอ่านมากขึ้นด้วย

ข้อเสียของการเรียนระบบ Sight Words
Sight words เน้นการจดจำจากการมองเห็น และการที่เด็กคุ้นเคยกับคำศัพท์ด้วยวิธี “จดจำ” มากกว่า “เข้าใจ” เวลาเจอคำศัพท์ที่เขาไม่รู้จัก หรือคุ้นๆ ว่าอาจจะรู้จักแต่จำไม่ได้ ก็เป็นไปได้ค่ะว่าเด็กจะใช้วิธี “เดา” คำศัพท์แทน และจะเดาผิดหรือเดาถูกนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
และในเมื่อเด็กใช้วิธี “จดจำ” คำศัพท์เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นไปได้อีกว่าทักษะการอ่านของเด็กถูกจำกัด ทำไมล่ะ? ก็เพราะเด็กจดจำและเรียนรู้เฉพาะคำศัพท์สำคัญในลิสต์ที่เราให้ (ในช่วงเริ่มต้น) แต่ถ้าเขาเจอคำศัพท์ใหม่ๆ นอกเหนือจากนั้น อาจจะยังอ่านไม่ได้
อีกอย่างคือ ถ้าเด็กเป็น “คนถนัดสมองซีกขวา” หรือ เด็กที่เรียนรู้โดยแปลงคำศัพท์ที่เห็นให้เป็นภาพในหัวก่อน อาจไม่เหมาะกับการเรียนแบบ Sight Words ค่ะ เพราะคำส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยให้เด็กเห็นภาพเลย เช่น “The”, “Are”, “Don’t” และ “Only”
แบบไหนดีกว่า?
ถ้าใครได้อ่านทั้งสองบทความ และอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงเห็นภาพรวมว่าการเรียนทั้งสองแบบก็ยังมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
การเรียนแบบโฟนิกส์เหมาะกับเด็กที่ชอบการแยกเสียง แยกส่วน ก่อนจะประกอบขึ้นเป็นภาพใหญ่ แต่การเรียนแบบ Sight words เป็นการเริ่มจากเรียนภาพใหญ่เลย
เปรียบเทียบง่ายๆ ค่ะ เมื่อเน้นการจดจำภาพรวม เด็กอาจยังเข้าไม่ถึงรายละเอียด ถ้าเริ่มเน้นจากรายละเอียด เด็กอาจไม่เข้าใจภาพรวม อ. ผึ้ง มองว่า ถ้าอยากฝึกลูกให้เก่งภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะทักษะการอ่าน และทักษะการเขียน การใช้ทั้งสองวิธีคู่กันไปก็มีประโยชน์แน่นอนค่ะ
ถ้าให้เด็กจดจำภาพรวม แต่ไม่เข้าใจการประยุกต์ใช้คำศัพท์ ก็ไม่ดี จะให้เข้าใจตรรกะ แต่ไม่เข้าใจความหมายการสื่อสารอย่างแท้จริง ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เราเห็นว่าระบบโฟนิกส์ยังไม่เพียงพอ ก็ให้แทรกเสริมลิสต์คำศัพท์ Sight words ที่เหมาะกับระดับชั้นและอายุของเด็กเข้าไปด้วยค่ะ
ในเมื่อยังไม่มีระบบการสอนที่ดีที่สุด ที่ตอบโจทย์ทุกอย่างได้ครบ การมีสองทางเลือกที่ดี ย่อมดีกว่าหนึ่งทางเดียวนะคะ
บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือนำไปดัดแปลงเพื่อเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain