พักนี้มักมีคำถามถึง อ. ผึ้ง จากคุณพ่อคุณแม่เด็กๆ วัยอนุบาลและประถมต้น เกี่ยวกับการปูพื้นฐานภาษาอังกฤษ “ลูกไม่ได้อยู่โรงเรียนอินเตอร์ แต่อยากให้เขาเก่งภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก จะต้องเริ่มจากตรงไหน?
ถ้าตอบกันจริงๆ คำถามนี้ต้องแจงรายละเอียดยาวเลยค่ะ แต่เคสส่วนใหญ่มักระบุชัดว่า อยากเน้นให้ลูกอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้เก่ง และที่สำคัญ อยากให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่รักการอ่านด้วย
เรื่องการสอน “ทักษะพูด” และ “ทักษะฟัง” บอกเลยว่าไม่ยาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้จากการซึมซับและจดจำสิ่งที่เขาได้ยินและเห็นอยู่แล้ว ยิ่งมีต้นแบบที่ถูกต้อง ยิ่งง่ายค่ะ
แต่เรื่อง “ทักษะอ่าน” และ “ทักษะเขียน” อย่าว่าแต่ในระบบการศึกษาไทยเลย แม้แต่ของฝรั่งเขาก็ถกคำถามนี้มานานแล้วเหมือนกัน ว่าการสอนวิธีไหนได้ผลดีกว่า เพราะอะไรที่เราเคยมองว่าดี อีกไม่นานก็มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาบอกว่า สิ่งนั้นล้าสมัยไปแล้ว หลักสูตรการศึกษาจึงต้องพัฒนาและคอยปรับไปอยู่ตลอด
ถึงแม้จะไม่มีคำตอบข้อสรุปแบบเอกฉันท์ แต่ อ. ผึ้ง ก็มักนำสองแนวคิดหลักของระบบการสอนภาษาในประเทศอังกฤษมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ในเมืองไทยฟังบ่อยๆ ไหนๆ แล้ว อ. ผึ้ง มองว่างั้นก็รวบรวมเป็นบทความซะเลย ให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่สนใจ อยากให้ลูกเก่งอ่านเขียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กได้เอาไปลองใช้ด้วย
Phonics – สอนออกเสียงระบบโฟนิกส์
คำว่า “Phonics” มาจากคำว่า “Phone” ไม่ใช่โทรศัพท์นะคะ แต่ในทีนี้หมายถึง “เสียง” การสอนระบบ “Phonics” หรือ “โฟนิกส์” ก็คือการเรียนโดยใช้หลักการถอดรหัสเสียง
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้หลักของตัวอักขระ หรือตัวอักษร จาก A ถึง Z มีทั้งหมด 26 ตัวอักษร แต่ละตัวอักษรมีเสียงกำกับ แต่เสียงทั้งหมดในภาษาอังกฤษมีมากกว่า 26 นะคะ นั่นเพราะเมื่อนำตัวอักษรมาจับคู่กันจะกลายเป็นเสียงใหม่ได้อีก ตัวอย่างเสียงพยัญชนะคู่คือ Ch, Sh, และตัวอย่างเสียงสระควบกล้ำคือ ou, au
การเรียนแบบ Phonics คือ การโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับเสียง
อ. ผึ้ง อารดา
สมัยก่อน เราถูกสอนให้จดจำเสียงตัวอักษรจาก A ถึง Z ด้วยชื่อต่างๆ เช่น เอ, บี, ซี, ดี, พอนำมารวมกัน หลายๆ ครั้งเราก็ใช้การท่องจำแบบตะบี้ตะบัน โดยปราศจากความเข้าใจ ลองดูตัวอย่างคำนี้
ตัวอย่างเช่น การผสมตัวอักษรและสระ 3 ตัว เพื่อสร้างคำศัพท์ใหม่
ตัวอักษร “c + a + t”
ออกเสียงว่า “ซี+ เอ + ที”
อ่านว่า “แคท”
แปลว่า “แมว”
เห็นไหมคะว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างตัวอักษรและเสียงเลย “ซี-เอ-ที” กลายมาเป็น “แค็ท” ได้ยังไง เด็กๆ ต้องท่องจำอย่างเดียว

แต่การเรียนด้วยระบบโฟนิกส์ ช่วยให้เปรียบเทียบง่ายๆ คือ ขณะที่เด็กเรียนรู้เรื่อง “การแยกและประสมเสียง” เพื่อสร้างคำศัพท์ สมองของเด็กกำลังถูกฝึกคิดด้วยตรรกะ คล้าย “การถอดรหัส” ข้อมูล
ตัวอักษร “c + a + t”
ออกเสียงว่า “เคอะ + แอะ + เทอะ”
อ่านว่า “แคท”
แปลว่า “แมว”
ขณะที่เด็กกำลังเรียน “การแยกและประสมเสียง” แบบโฟนิกส์เพื่อสร้างคำศัพท์ สมองของเด็กจะถูกฝึกคิดแบบตรรกะไปด้วย เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คล้าย “การถอดรหัส” ข้อมูลนั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อเปลี่ยนอักษรตัวหน้า เราก็จะได้เสียงใหม่ และคำศัพท์ใหม่อีก โดยที่เด็กไม่ต้องไปเริ่มท่องจำส่วนประกอบในคำศัพท์ใหม่ทั้งเซ็ต แต่จดจำและเชื่อมโยงจากคำศัพท์เดิมที่เคยเรียนมาแล้ว เช่น
ตัวอักษร “r + a + t”
ออกเสียงว่า “เรอะ + แอะ + เทอะ”
อ่านว่า “แรท”
แปลว่า “หนู”
นอกจากนี้ เรายังเปลี่ยนอักษรตัวหลังได้ด้วย
ตัวอักษร “c + a + p”
ออกเสียงว่า “เคอะ + แอะ + เพอะ”
อ่านว่า “แคพ”
แปลว่า “หมวกแก็ป”
ข้อดีของการเรียนระบบโฟนิกส์
การสอนเด็กให้อ่าน-เขียนภาษาอังกฤษด้วยวิธีโฟนิกส์ เป็นทั้งการฝึกคิดแบบตรรกะ ทั้งฝึกการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของเด็กด้วย
เด็กที่ชอบการเชื่อมโยงจากสิ่งเล็ก แล้วประกอบกันเป็นภาพใหญ่ เขาจะรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ค้นพบ และอยากจะรู้ต่อไปอีกว่าถ้าเปลี่ยนอักษรตัวหน้า หรืออักษรตัวหลัง ไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นคำไหนได้อีก
เด็กจะเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละคำศัพท์ เพียงแค่เข้าใจกฏการประสมเสียงพยัญชนะและสระ ก็สามารถเอาความรู้ไปประยุกต์ออกเสียงคำศัพท์ใหม่ๆ ได้เอง
นอกจากอ่านออกเสียงได้เอง ถ้าเขาเข้าใจกฏของภาษาอังกฤษดีระดับหนึ่งแล้ว ยังสามารถสะกดคำศัพท์ได้เองด้วย

ข้อเสียของการเรียนระบบโฟนิกส์
การเรียนแบบนี้นิยมมาก ทั้งในโรงเรียนฝรั่ง และโรงเรียนไทย แต่ข้อเสียของมันก็มีค่ะ ถ้าเน้นการเรียนเรื่องเสียงอย่างเดียว ฝึกการสะกดอย่างเดียว เด็กอาจจะอ่านได้ทั้งประโยค แต่อาจไม่รู้ก็ได้ว่ามันแปลว่าอะไร เพราะไม่ได้รู้จักทุกคำ แต่เอากฎการออกเสียงมาประยุกต์ใช้ได้เฉยๆ
การฝึกออกเสียงแบบโฟนิกส์ ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กทุกคน เพราะบางคนถนัดการคิดเป็นภาพมากกว่า ไม่ชอบเรื่องการแยกเสียง แยกศัพท์ ไม่ชอบมองส่วนย่อย แต่ชอบมองภาพรวม
สำหรับเด็กที่อยากรู้ความหมายคำศัพท์ และความสัมพันธ์ของคำนั้นกับบริบทมากกว่า อยากอ่านได้เยอะๆ เร็วๆ แน่นอนการสอนแบบนี้ไม่เวิร์คค่ะ
เทคนิคการเรียนระบบโฟนิกส์
เทคนิคการเรียนระบบโฟนิกส์ที่เห็นกันในโรงเรียนส่วนใหญ่ คือการใช้บัตรคำศัพท์ หรือ “Flashcards” ค่ะ โดยเฉพาะบัตรคำตัวอักษร ที่เรียกว่า “Phonics flashcards” ช่วยให้การฝึกประสมพยัญชนะกับสระเป็นเรื่องง่าย คุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อมาใช้สอนลูกเองที่บ้านได้เลย
การใช้ Flashcard สอนเองที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นต้นแบบการออกเสียงที่ถูกต้องให้ลูกได้ด้วยนะคะ
การใช้บัตรคำศัพท์ช่วยให้เด็กๆ ฝึกในกลุ่มคำศัพท์ที่เราต้องการ ฝึกเป็นสเต็ป จะมีทั้งคำศัพท์ทั้งรูปภาพประกอบด้วยยิ่งดี เด็กๆ จะได้เห็นทั้งการสะกด เห็นความหมาย และได้ยินการออกเสียงไปพร้อมกัน
นอกจากบัตรคำศัพท์แล้ว ควรมีหนังสือแบบฝึกหัดให้เด็กๆ ทดลองประสมเสียงเอง และเรียนรู้จับคู่ความหมายด้วย เพื่อเช็คความเข้าใจ และทบทวนความรู้ค่ะ
อ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าการเน้นสอนอ่านระบบโฟนิกส์จะเหมาะกับลูกเราไหม เพราะเด็กแต่ละคนมีระบบการคิดและความสนใจไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าได้ต้นแบบการฝึกหรือครู รวมทั้งหนังสือที่มีคุณภาพ เด็กจะสามารถอ่านออกเสียงได้คล่องและถูกต้อง โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนอินเตอร์เลย
สำหรับแนวคิดที่สองที่ อ. ผึ้ง คุยไว้ตอนต้นบทความ คือการเรียนด้วยระบบ “Sight Words” เป็นแนวคิดที่นิยมใช้สอนภาษาให้กับเด็กเล็ก และใช้กันมากในหลักสูตรต่างประเทศไม่แพ้ระบบ “Phonics” ถ้าอยากรู้ว่ามันคืออะไร ติดตามอ่านในตอนที่สองนะคะ
บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือนำไปดัดแปลงเพื่อเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain