บทความนี้ อ. ผึ้ง อยากคุยถึงหนังสืออีกเล่มที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนมาแล้วทั่วโลก รวมทั้งตัว อ. ผึ้งเองด้วย เล่มนี้ไม่ใช่หนังสือคู่มือวิทยาศาสตร์ แต่เป็นหนังสือที่ล้วงลงไปก้นบึ้ง “ความเชื่อดั้งเดิม” ของมนุษย์เรื่องยีนกำหนด ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกจนวาระสุดท้ายของชีวิต และท้าทายความเชื่อนั้นด้วยศาสตร์แห่งการแพทย์และชีววิทยาสมัยใหม่ 


อ. ผึ้ง ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์เอ็มไอเอสบ่ายวันหนึ่ง เกี่ยวกับการแปลหนังสือแนววิทยาศาสตร์การแพทย์และการพัฒนาตัวเองฉบับภาษาอังกฤษ หลังจากดูชื่อและหน้าปกแล้ว ไม่คิดนานค่ะ ตอบตกลงทันที ด้วยเหตุผลหลักข้อเดียว เล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือโปรดของ อ. ผึ้ง ตั้งแต่สิบปีที่แล้ว สมัยที่หนังสือแนวพัฒนาตัวเองผนวกงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ยังไม่พิมพ์ออกมามากมายเหมือนในปัจจุบัน เล่มนี้จึงขึ้นแท่นเป็นทั้งหนังสือดีในตำนาน (ของตัวเอง) และหนังสือขายดีทั่วโลก

ชื่อหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษ “The Biology of Belief” หลายคนฟังแล้วอาจรู้สึกgเกรงขาม (ปนฉงนเล็กๆ) แรกทีเดียวคำว่า “Biology” หรือ “ชีววิทยา” พาให้คิดถึงสาระและหลักวิชาการที่ค่อนยากไกลตัว ส่วน “Belief” หรือ “ความเชื่อ” ทำให้เบาใจขึ้นนิดนึง เพราะอะไรที่เป็นแนวจิตวิทยามักจะเชื่อมโยงกับคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน อ. ผึ้ง บอกเลยว่าทั้งสองข้อสันนิษฐาณจากชื่อเรื่อง ถูกต้องทั้งคู่ค่ะ 

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักชีววิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน ด็อกเตอร์ บรูซ ลิปตัน (Dr. Bruce Lipton) ที่เป็นทั้งนักวิจัยและอาจารย์สอนในโรงเรียนแพทย์ของอเมริกา ไม่ใช่อาจารย์สายเนิร์ด แต่เป็นสายร็อค..เฮ้ว..ชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง แม้เล่มนี้จะค่อนข้างอัดแน่นด้วยหลักวิชาการ (โดยเฉพาะในบทแรกๆ) แต่การที่ด็อกเตอร์ บรูซ ลิปตัน เป็นผู้สอนบรรยายให้นักศึกษาแพทย์มาหลายปี จึงมีทักษะการอธิบายที่ย่อยให้เนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์หนักๆ เข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป (และ อ. ผึ้ง เองก็ใช้ความสามารถเต็มที่ในการแปลเรียบเรียงออกมาอีกรอบให้ได้อรรถรสและใจความครบถ้วนสำหรับนักอ่านไทย)  

หนังสือเล่มนี้ได้ชื่อใหม่ในฉบับแปลภาษาไทยตามฉบับการตีพิมพ์ค่ะ ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อว่า “ทำอะไรก็ดีไปหมด แค่เปลี่ยนความคิด” และชื่อในฉบับตีพิม์ครั้งที่ 2 คือ “The Biology of Belief : ฉบับภาษาไทย

มาดูสรุป 5 หลักคิดสำคัญที่ อ. ผึ้ง เอามาฝากจากหนังสือเล่มนี้กันค่ะ

The Biology of Belief – ทำอะไรก็ดีไปหมด แค่เปลี่ยนความคิด” | Dr. Bruce Lipton เขียน | อารดา กันทะหงษ์ แปล

1. จงเรียนรู้จากเซลล์ฉลาด

เซลล์เป็นสิ่งที่ฉลาดล้ำลึก เซลล์ในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เจริญเติบโตขึ้นได้ ไม่ใช่จากการแก่งแย่งเพื่อชิงอาหารและทรัพยากร แต่พวกมันดำรงอยู่ร่วมกันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ เซลล์จะแบ่งหน้าที่งานของตัวเองชัดเจน แต่ละเซลล์จะทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี และสอดประสานอย่างกลมกลืน 

ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด บรรดาเซลล์ต่างๆ จะร่วมมือกันและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด สังคมเซลล์ก็เปรียบเสมือนสังคมมนุษย์ เราต่างต้องพึ่งพากันและเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปด้วยกันเพื่อความอยู่รอด ขณะเดียวกันเราต่างต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อให้โลกก้าวไปข้างหน้า

2. จงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

เอพิเจเนติกส์ (Epigenetics) เป็นแขนงวิชาพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม หรืออธิบายง่ายๆ คือการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นที่นอกเหนือจากปัจจัยทางพันธุกรรม ว่ามีความสัมพันธ์กับการถ่ายทอดลักษณะทางสายเลือดได้อย่างไรบ้าง ผู้เขียนพิสูจน์ให้เห็นจากประสบการณ์งานวิจัยในห้องทดลองกว่า 30 ปีของเขาเองว่า ความเชื่อเดิมของนักชีววิทยารุ่นก่อนอย่าง ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่าพันธุกรรมคือสิ่งกำหนดชะตาชีวิตเรา แท้จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น

เซลล์เมมเบรน (Membrane) หรือเยื่อหุ้มเซลล์มีโปรตีนที่ทำหน้าที่ควบคุม “การอ่าน” ยีนพันธุกรรม และโปรตีนเหล่านี้ก็ปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในหรือภายนอกร่างกาย

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สิ่งมีชีวิตในระบบชีวนิเวศนั้นๆ ก็จะปรับตัวตาม ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน การเติบโตหรือเสื่อมถอยของเซลล์ไม่ได้เกิดจากยีนหรือพันธุกรรมที่ถูกเขียนรหัสไว้แต่เริ่ม แต่เกิดจากอิทธิพลแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต หรือภาวะโภชนาการ 

หากต้องการมีชีวิตที่เจริญงอกงามเหมือนต้นไม้ จงอยู่ในสถานที่ที่เอื้อต่อการเติบโต จงฉลาดเลือกสิ่งแวดล้อมของเรา

3. จงเลือกดึงดูดแต่สิ่งที่ดี

ฟิสิกส์ควอนตัม หรือกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Physics) คือทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่อธิบายพฤติกรรมของสสารขนาดเล็กระดับอะตอม ฟิสิกส์ควอนตัมทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์และทุกสิ่งในจักรวาลประกอบขึ้นจากความว่างเปล่า สรรพสิ่งล้วนคือพลังงาน เป็นคลื่นความถี่ ที่มักจะดึงดูดสิ่งที่มีแรงสั่นสะเทือนระดับเดียวกันเข้าหากัน ตัวเราเองก็เช่นกัน

ความคิดของเราคือคลื่นพลังงานที่ถูกส่งออกไปและจะรับสัญญาณที่มีความถี่ตรงกันเข้ามา คล้ายเสารับสัญญาณทีวี เมื่อเราคิดถึงสิ่งใด ความคิดนั้นจะไปดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามา นอกจากนี้ ความคิดยังสามารถ “เปิดสวิตช์” และ “ปิดสวิตช์” ยีนบางตัวในร่างกายได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเฝ้าระวังความคิดของตัวเองให้ดี

ตัวอย่างคือ ถ้ามีความเครียด ชอบคิดกังวลถึงโรคร้ายซ้ำๆ เราเองนั่นแหละที่กำลังส่งคลื่นสัญญาณไปกระตุ้นยีนของโรคนั้นให้ก่อตัวขึ้นในร่างกาย ถ้าเราชอบคิดถึงเรื่องร้ายๆ แม้จะไม่มียีนความโชคร้ายในร่างกายเรา แต่สิ่งนี้อยู่ในรูปของคลื่นพลังงานรอบตัว เพราะฉะนั้น ความโชคร้ายก็มักมาเยือนเราบ่อยเช่นกัน ตรงข้ามถ้าเรามักคิดถึงความอ่อนเยาว์ หรือสุขภาพที่แข็งแรง เซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็ย่อมปรับตัวตาม และการย้อนวัยด้วยความคิดสามารถพิสูจน์ได้จริง

คนที่คิดถึงความอ่อนเยาว์ หรือสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมดึงดูดคลื่นพลังงานบวก และสามารถปรับการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้

4. จงเชื่อในความมหัศจรรย์ของร่างกาย

เมื่อความคิดซ้ำๆ ของมนุษย์สามารถส่งผลต่อร่างกายและสิ่งรอบตัวเราได้ แล้วถ้าความคิดนั้นกลายเป็นความเชื่ออย่างแรงกล้า พลังของมันจะส่งผล (ทั้งดีและลบ) ต่อร่างกายเราได้มากขนาดไหน 

พลาซีโบ (Placebo) คือคำที่วงการแพทย์ใช้หมายถึงการให้ “ยาหลอก” หรือยาที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ใดๆ (อย่างเช่น แป้ง) กับผู้ป่วย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเหมือนได้รับยาจริงและสามารถหายจากโรคได้ แม้แต่การที่แพทย์ใช้การ “ผ่าตัดหลอก” โดยไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ผู้ป่วยที่เชื่อว่าตัวเองได้รับการผ่าตัดจริง หรือได้ยาจริง ก็สามารถหายจากความเจ็บป่วยได้จริงเหมือนกัน 

งานวิจัยหลายชิ้นทั้งด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) และด้านเภสัชกรรม (Pharmacy) ยืนยันเรื่องนี้ค่ะ พลังพลาซีโบก็คือพลัง “ความเชื่อ” ของผู้ป่วยเอง  เรื่องนี้ตอกย้ำแก่นหลักของหนังสือที่ว่า ความเชื่อของเราสามารถรักษาร่างกายและเยียวยาจิตใจของเราได้ ขณะเดียวกันก็ทำร้ายเราได้หากเป็นความเชื่อในทางลบ

5. จงใช้จิตใต้สำนึกสร้างชีวิตใหม่ที่ต้องการ

นอกจากพลังความเชื่อแล้ว พลังของจิตใต้สำนึกก็มีอานุภาพรุนแรงที่สามารถสร้างสรรค์ หรือทำลายชีวิตเราได้เหมือนกัน

ความคิด นิสัย อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ เกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวันคือการแสดงออกของจิตใต้สำนึก อย่างที่คุยไปแล้วว่า ความคิดคือคลื่นพลังงาน จิตใต้สำนึกก็คือคลื่นความคิดหรือคลื่นพลังงานเหมือนกัน เมื่อจิตใต้สำนึกส่งคำสั่งออกไป ไม่ว่าทางบวกหรือลบ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองตามนั้นแบบอัตโนมัติทันที โดยไม่ท้วงถามหรือกลั่นกรอง ผู้เขียนได้อธิบายหลักข้อนี้เชิงวิทยาศาสตร์ไว้ชัดเจนค่ะ คำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” คือเรื่องจริง

อารมณ์กลัวและความเครียดส่งผลร้ายแรงที่สุด เพราะมันไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อารมณ์กลัวและความเครียดเป็นชีวกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตัวเองของสิ่งมีชีวิตเพื่อความอยู่รอด ผู้เขียนเปรียบสังคมเซลล์เหมือนชุมชนที่เจอภัยสงครามและต้องหยุดการทำงานไปทั้งระบบ แต่ถ้าความเครียดสะสมนานเข้า ในที่สุดสังคมนั้นจะล่มสลาย ร่างกายของเราก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น หากอยากเปลี่ยนชีวิต จงเริ่มที่เปลี่ยนจิตใต้สำนึกของเราก่อน

“จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ความคิดคือตัวกำหนดชะตาชีวิตคุณ

อ. ผึ้งอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับตีพิมพ์ภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยที่หนังสือแนวผสมผสานวิทยาศาสตร์การแพทย์กับจิตวิทยากำลังอยู่ในยุคเริ่มๆ จะเบ่งบาน ช่วงนั้นเนื้อหาของเล่มนี้ถือว่าสดใหม่และทรงพลัง สั่นสะเทือนแรงไปหลายวงการเลยค่ะ สิบปีต่อมาในวันที่ได้ลงมือแปลหนังสือฉบับภาษาไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง อ. ผึ้งเชื่อว่าเนื้อหายังทันสมัยและใช้ได้จริงเสมอ

ใครสนใจเรื่องการพัฒนาตัวเองโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาแบ็คอัพแบบเต็มๆ แนะนำให้หามาอ่านค่ะ “The Biology of Belief – ทำอะไรก็ดีไปหมด แค่เปลี่ยนความคิด”  และ “The Biology of Belief – ปลดปล่อยพลังจิตใต้สำนึก ร่างกาย และความมหัศจรรย์ในตัวคุณ” แล้วจะรู้ว่า ยีนไม่ใช่ตัวกำหนดชะตาชีวิต แต่มันคือ “ความคิด” ของเราเอง ที่เป็นต้นกำเนิดของทุกอย่าง 


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อก่อนได้รับอนุญาต

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: