คนเก่งไม่ใช่คนที่เรียนรู้มากที่สุด แต่เป็นคนที่รู้จักวิธีเรียนรู้อย่างฉลาด
กฎ 80/20 ถูกพูดถึงในหลายวงการมานานแล้ว บางคนก็อธิบายว่าเป็นเรื่องของการทำน้อยให้ได้มาก บ้างก็บอกว่าการลงทุนต่ำแต่ได้ประสิทธิภาพสูง ในบทความนี้ อ. ผึ้ง จะมาขยายต่อในวงการศึกษาและภาษาศาสตร์ค่ะ มาดูว่าเราจะเอากฎ 80/20 มาใช้กับการเรียนภาษาได้ยังไงบ้าง
กฎทำน้อยได้มาก
กฎ 80/20 มีอีกชื่อหนึ่งว่า กฎพาเรโต (Pareto Principle) คิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยนที่ชื่อ วิลเฟรโด พาเรโต ซึ่งได้มาจากการสังเกต เก็บสถิติ และเสนอเป็นกฎ 80/20 ไว้เมื่อปี 1896
สรุปแบบง่ายๆ คือ กำไรส่วนใหญ่ของบริษัท เกิดจากลูกค้าเพียงไม่กี่คน นั่นหมายถึง กำไร 80% ของบริษัท เกิดจากลูกค้าเพียง 20% สมมุติธุรกิจของเรามีลูกค้า 100 คน แต่จะมีแค่ 20 คนที่สร้างกำไรส่วนใหญ่ (80%)ให้ธุรกิจ และเราควรโฟกัสไปที่กลุ่มนี้
นั่นหมายถึง การโฟกัสไปที่จุดเล็กๆ ที่ให้ผลลัพธ์สูงที่สุด
กฎนี้ยังถูกนำไปใช้เทียบเคียงกับศาสตร์อื่นๆ ได้แม่นยำด้วย ทั้งด้านการแพทย์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และด้านภาษาศาสตร์.วันนี้ อ. ผึ้ง จะจับกฏนี้มาใส่กับการเรียนภาษา โดยเฉพาะเรื่องคำศัพท์

กฎ 80/20 กับการฝึกคำศัพท์
ในภาษาอังกฤษมีคำศัพท์อยู่ประมาณหนึ่งล้านคำ (แล้วแต่เกณฑ์การนับของแต่ละคน) ถ้าใครอยากรู้รายละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ค่ะ
เราไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด เราแค่ต้องรู้ใน “สิ่งที่ควรรู้” กฎ 80-20 คือ “การโฟกัส” ดังนั้นเราต้องโฟกัส “คำศัพท์ที่จำเป็น/ใช้บ่อย” ก่อนค่ะ มาดูว่ามีคำศัพท์อะไรบ้าง
- โฟกัสคำศัพท์ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
- โฟกัสคำศัพท์ที่ใช้บ่อยในหน้าที่การงาน
- โฟกัสคำศัพท์ที่ใช้บ่อยในกิจกรรมที่เราสนใจ
- โฟกัสคำศัพท์ที่ใช้บ่อยในการสอบ
เมื่อรู้ในสิ่งสำคัญหรือ “แก่น” ของเรื่องนั้นแล้ว (20%) เวลานำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง ก็จะได้ประสิทธิภาพมากกว่า (80%)
แน่นอนว่า การสุ่มท่องคำศัพท์จากดิกชันนารี หรือการเรียนคำศัพท์ใหม่ๆ วันละคำจากเว็บไซต์ฝึกภาษา คือสิ่งที่ “ยังไม่จำเป็น” (ในช่วงแรกๆ) ถ้ามันไม่ได้ตรงกับเป้าหมายหลักในลิสต์ด้านบนของเรา
พูดง่ายๆ คือ แทนที่จะไปเดินอ้อมให้เสียเวลา เรามาเดินทางลัดเลยดีกว่า เราฉลาดเลือกที่จะออกแรงน้อยกว่า เพราะเรารู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลลัพธ์กลับมาหลายเท่า
ฝึกทักษะภาษาอังกฤษตามกฎ 80/20
มาดูตัวอย่างนะคะ ถ้าเราอยากเก่งสนทนาภาษาอังกฤษ ก็ฝึกด้วยการฟัง-พูด ดูหนัง ดูซีรี่ส์ แล้วหัดออกเสียงตาม ไม่ใช่ฝึกด้วยการอ่านแชทอ่านข่าวบนโซเชียลมีเดีย หรือฝึกจากการเล่นเกมออนไลน์ เพราะนั่นจะเน้นทักษะอ่านและความบันเทิงเป็นหลัก เป็นโหมด “passive” ที่ไม่ได้กระตุ้นให้เราฝึกทักษะพูด-ฟังสักเท่าไหร่
ถ้าอยากเขียนเก่ง เขียนได้แบบมือโปร ควรฝึกจากการอ่านหนังสือ จะเป็นหนังสือประเภท Fiction หรือ Non-fiction ได้ทั้งนั้นค่ะ แค่เลือกแนวให้ตรงกับที่เราต้องการ เช่น อยากเขียนเชิงวิชาการเก่ง ก็ควรเลือกหนังสือแนวความรู้และสารคดี หรือ Non-fiction จะได้ประโยชน์กว่าอ่านนิยายหรือนิทาน
อ้อ…สำหรับคนอยากเก่งทักษะเขียน โดยเฉพาะเขียนบทความ เขียนรายงาน เรื่องแกรมม่าต้องแม่นค่ะ ดังนั้นจึงไม่ควรฝึกจากการอ่านคอมเมนต์หรือแชทบนโซเชียลมีเดีย และไม่ใช่การดูซีรี่ส์
ถ้าอยากใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในที่ทำงาน แต่การไปฝึกจากการ์ตูนก็ไม่เวิร์กนะคะ เพราะจะได้คำศัพท์ง่ายๆ สำหรับเด็กซะส่วนใหญ่ แต่อาจไม่เหมาะเอาไปใช้กับการทำธุรกิจการงาน
หลักการเลือกที่สำคัญคือการโฟกัสไปที่หัวข้อ เนื้อหา และทักษะที่เราต้องการหยิบมาใช้ทันที “อย่าเดินอ้อม”
เทคนิคลัดใช้กฎ 80-20 กับการเรียนภาษา
ถึงตรงนี้หลายคนคงพอได้ไอเดียเบื้องต้นสำหรับการเลือก “โฟกัสให้ถูก” กันแล้ว ทีนี้มาดูขั้นตอนรวบรัดสำหรับการนำกฎ 80-20 ไปใช้ทีละสเต็ปกันค่ะ
- เข้าใจเป้าหมายของตัวเองก่อน
- เข้าใจ “แก่น” หรือ “หัวใจ” ของสิ่งที่เราจะทำ
- เลือก “เส้นทาง” หรือ “วิธี” ที่สั้นที่สุด และตรงถึง “แก่น” ที่สุด (20%)
- หา “ต้นแบบ” ที่ถูกต้อง
- ลงมือฝึกซ้ำๆ
- คอยเช็คความก้าวหน้าและผลลัพธ์เป็นระยะ (80%)
ขั้นตอนเหล่านี้ เราเอาไปใช้กับทักษะอื่นๆ ได้ทั้งนั้นค่ะ ไม่ว่าจะ
- การทำงาน
- การเรียน
- การจัดตารางชีวิตในแต่ละวัน
- หรือการไปให้ถึงเป้าหมายหลักของชีวิต
เวลาของคุณมีค่า
กฎ 80/20 ทำให้เรารู้ว่า “เวลา” เป็นสิ่ง “มีค่า” เกินกว่าจะใช้ไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า
ถ้าอยากเก่งทักษะที่ “ใช่” ก็อย่าไปเสียเวลากับสิ่งที่ “ไม่ใช่” อยากเก่งภาษาก็ต้องจัดเวลาเพื่อทบทวนและฝึกฝนเรื่องภาษาค่ะ ไม่ว่าจะคำศัพท์ การออกเสียง แกรมม่า หรือสำนวนประโยคที่จำเป็นและตรงกับเป้าหมายของเรา ตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องและกิจกรรมที่จะดึงเวลาของเราออกไป ไม่ว่าจะเป็นเวลานั่งดูทีวี ซีรีส์ โซเชียลมีเดีย หรือกิจกรรมใดๆ ที่ไม่พาเราไปถึงจุดหมาย
คำว่า “ยิ่งฝึกก็ยิ่งเก่ง” เป็นความจริงเสมอค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าฝึกหนักแล้วจะเก่ง ประเด็นสำคัญคือ ต้องรู้จักฝึกอย่างฉลาด หรือรู้จักเลือก “โฟกัสให้ถูกที่” ต่างหาก
เมื่อโฟกัสแก่นของเรื่องใดได้ถูกแล้ว ชีวิตนี้เราจะไม่เสียเวลาเดินอ้อมอีกเลย
ใครอยากสมองดี ความจำแม่น รู้เทคนิคการพัฒนาทั้งทักษะการคิดและทักษะภาษาควบคู่ไปด้วยกัน สามารถติดต่อเราเพื่อสมัครคอร์สเรียนออนไลน์ และติดตามความรู้ดีๆ กับ อ. ผึ้ง ได้ที่นี่ หรือทางเฟสบุ๊ค อ. ผึ้ง อารดา : English Brain
บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือเนื้อหาบางส่วนไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต