การค้นหาความฉลาดเขาใช้วิธีไหนกันนะ? หลายคนรู้แล้วว่าไอคิว (IQ – Intelligence Quotient) คือความฉลาดทางสติปัญญา คนไอคิวสูงคือคนสมองไว เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว เก่งการวิเคราะห์และการแก้ปัญหา รวมทั้งคิดในเชิงตรรกะได้ดีเยี่ยม

ไอคิวเป็นเรื่องของศักยภาพสมอง ไม่ใช่ทักษะที่เกิดจากการฝึกฝนหรือประสบการณ์ที่เคยเจอในอดีต หนึ่งในวิธีมาตรฐานที่เรานิยมใช้วัดระดับไอคิวคือการทำข้อสอบค่ะ 

แต่จริงๆ แล้วข้อสอบวัดระดับไอคิวแต่เดิม ไม่ได้ตั้งใจวัดระดับความฉลาด เพื่อค้นหา “คนเก่ง” นะคะ แต่ตรงกันข้ามเขาคิดขึ้นมาเพื่อค้นหา “คนไม่เก่ง” ต่างหาก ทุกวันนี้มีข้อสอบออนไลน์ มีหนังสือวัดระดับไอคิว หลายเวอร์ชั่นผลิตออกมาขายทั่วไป เยอะแยะไปหมด แต่ข้อสอบตัวไหนคือของจริงแท้ดั้งเดิมและแม่นยำที่สุด? มาหาคำตอบในบทความนี้กันค่ะ


ความฉลาด หรือ “Intelligence” เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาตามศึกษาอย่างใกล้ชิดมานานแล้ว การสอบวัดระดับไอคิว เป็นวิธีหนึ่งที่เราใช้ประเมินระดับความฉลาดของเด็ก (และผู้ใหญ่) โดยวัดความสามารถและความเร็วในการประมวลผลของสมอง การเข้าใจความสัมพันธ์เชิงมิติและเวลา การคิดยืดหยุ่น การคิดเชิงตรรกะเหตุผล สมาธิ และความสามารถในการแก้ปัญหา

ไอคิวเป็นเรื่องของศักยภาพสมองล้วนๆ ค่ะ จึงไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่เกิดจากการอ่าน และไม่เกี่ยวกับทักษะที่เกิดจากการฝึกฝนจนชำนาญ ดังนั้นการร่ำเรียนมามากหรือจดจำข้อมูลได้มากจึงไม่เกี่ยวกับการมีไอคิวสูง ถ้าพูดแบบกว้างๆ คือ ไอคิวเกิดจากความคิดและความเข้าใจ ไม่ใช่ความรู้หรือความจำ

มาตรฐานการสอบวัดไอคิวในปัจจุบันยังอิงหลักเกณฑ์จากข้อสอบวัดไอคิวชุดดั้งเดิม ซึ่งกลุ่มนักจิตวิทยาการศึกษาได้ออกแบบขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่เดิมมีจุดประสงค์เพื่อใช้วัดระดับความฉลาด และความสามารถทางวิชาการของเด็กนักเรียน

บางคนอาจคุ้นๆ ชื่อนักจิตวิทยาดังๆ อย่าง ชาร์ล สเปียร์แมน (Charles Spearman), ฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) หรือ โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) มาบ้างแล้ว เพราะทั้งสามคนนี้ นอกจากจะเป็นเจ้าพ่อวงการจิตวิทยาแล้ว ยังเป็นเจ้าพ่อทฤษฎีความฉลาดอีกหลายทฤษฎีด้วย

แต่ต้นกำเนิดข้อสอบวัดระดับไอคิวฉบับแรกของโลก กลับไม่ได้มาจากสามคนนี้นะคะ

จุดเริ่มต้นการสอบวัดไอคิว

เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นที่ยุโรป โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ อัลเฟรด บิเนต์ (Alfred Binet) เขาได้รับคำสั่งตรงจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ออกแบบข้อสอบชุดหนึ่งขึ้นในปี 1905 เพื่อวัดความสามารถทางวิชาการของเด็กนักเรียนในยุคนั้น

จุดประสงค์การออกแบบข้อสอบวัดไอคิวชุดแรก คือเพื่อค้นหาเด็กที่ “เรียนอ่อน” เพื่อทางโรงเรียนจะได้ให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ถูกต้องค่ะ

อัลเฟรดมีเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งชื่อ ธีโอดอร์ ไซมอน (Theodore Simon) ทั้งสองคนได้ศึกษาพฤติกรรม สังเกตการเรียน และความสามารถ ของเด็กวัยต่างๆ อยู่พักใหญ่ จนพัฒนาข้อสอบชุดแรกขึ้นได้สำเร็จ แล้วยังถูกใช้แพร่หลายทั่วโลกมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ

Binet-Simon Intelligence Scale

ข้อสอบในยุคแรกจะวัดความสามารถหลายด้านของเด็กๆ ในหลายระดับชั้นและอายุ และเพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ให้เด็กอ่านโจทย์แล้วเลือกคำตอบนะคะ แต่มีการวัดทักษะภาษา ทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้ตรรกะความคิดเชิงเหตุผลของเด็กด้วย

อย่างเช่น เด็กๆ ต้องสามารถบอกความสัมพันธ์หรือความต่างของกลุ่มสิ่งของได้ จดจำและทวนประโยคสั้นๆ ได้ หาคำศัพท์ที่มีเสียงคล้องจองกันได้ วาดรูปตามที่กำหนดได้ หรืออธิบายคอนเซ็ปต์ของคำศัพท์ง่ายๆ ได้ หรือใช้นิ้วชี้ไปที่อวัยวะบนร่างกายตามคำสั่งได้ ฟังแค่นี้ก็รู้สึกสนุกตามแล้วใช่ไหมคะ

Standford-Binet Intelligence Scale

ต่อมาลูวิส เทอร์แมน (Lewis Terman) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้นำข้อสอบ Binet-Simon Intelligence Scale มาปรับปรุง แล้วทดลองใช้กับเด็กอเมริกันดูบ้าง แล้วก็ได้ผลดี จนเป็นที่มาของข้อสอบอีกหนึ่งชุด ที่เรายังนิยมใช้เพื่อวัดระดับไอคิว กันจนทุกวันนี้นั่นคือ Standford-Binet Intelligence Scale ค่ะ

ข้อสอบชุดนี้ของลูวิสไม่ได้แค่ใช้ค้นหาเด็กเรียนอ่อน แต่ยังตั้งใจปรับให้สามารถใช้ค้นหาผู้ใหญ่ที่มีระดับสติปัญญาสูงกว่าคนทั่วไปด้วย

ข้อสอบของบิเนต์ช่วยบอกเราเกี่ยวกับ “อายุสมอง” ของเด็กได้ด้วยค่ะ อย่างเช่น ถ้าเด็กอายุ 6 ขวบ และสามารถทำข้อสอบที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบได้ แต่ทำข้อสอบสำหรับเด็กชั้นโตกว่าไม่ได้ ก็แปลว่า “อายุจริง – Chronological Age”กับ “อายุสมอง –Mental Age” ของเด็กเท่ากัน แต่ถ้าทำข้อสอบที่ออกแบบสำหรับเด็กอายุมากกว่าได้ แปลว่ามี “อายุสมอง” มากกว่า “อายุจริง” หรือเป็นเด็กฉลาดนั่นเอง

เนื่องจากนักจิตวิทยารุ่นต่อๆ มามองว่าความฉลาดมีหลายมิติ ไม่ใช่การวัดกันเพียงแค่ความรู้ที่เด็กได้เรียนมา อย่างเช่น คณิตศาสตร์ ทักษะภาษา ทักษะการอ่าน-เขียน (ตามที่ อ. ผึ้งได้อธิบายข้างต้นว่าไอคิวไม่ใช่เรื่องการการรู้มากหรือรู้น้อย) เพราะฉะนั้น ข้อสอบวัดไอคิวรุ่นใหม่ๆ จึงหันมาวัดความสามารถของสมองโดยตรง อย่างเช่น ความไว สมาธิ ความจำ การใช้ตรรกะ การแก้ปัญหา

ยีนและสิ่งแวดล้อม

อีกหนึ่งคำถามที่ อ. ผึ้ง เจอบ่อยจากคนรอบตัวคือ ประเด็นเรื่องของยีน (nature) และสิ่งแวดล้อม (nurture)

จากที่ได้ศึกษามาเองจากหลายๆ งานวิจัย ข้อสันนิษฐานก็เป็นไปในทางเดียวกันค่ะ ยีนดีเป็นข้อได้เปรียบแน่นอน แต่ทั้งสองอย่างต้องไปคู่กัน นอกจากนี้ระดับความฉลาดของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงได้ (เล็กน้อย) ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพของแต่ละคน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและกาลเวลา

พูดง่ายๆ คือ ถ้าได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี กระตุ้นตัวเองให้เรียนรู้สิ่งใหม่ ฝึกใช้ความคิดวิเคราะห์ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ประสิทธิภาพสมองก็ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกัน หากไม่สนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเอง เป็นคนคิดลบและเครียดอยู่เสมอ ประสิทธิภาพสมองก็ลดลงเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น อ. ผึ้ง สรุปสั้นๆ ว่าความฉลาดเป็นผลจากยีนหรือกรรมพันธุ์โดยตรงก็จริง แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ศักยภาพสมองของเราถูกพัฒนาเพิ่มจากยีนเดิมที่มีอยู่ได้

เราเปลี่ยนแปลงยีนไม่ได้ แต่เราปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเราได้

อ. ผึ้ง อารดา

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ การถูกกระตุ้นให้เกิดการคิด และการเรียนรู้อยู่เสมอ สำคัญมากกับคุณภาพและสุขภาพสมอง อ. ผึ้ง แนะนำให้หมั่นเติมอาหารสมองด้วยการอ่านหนังสือเป็นประจำ ฝึกฝนความจำ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นอนหลับให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตัวเองให้ดีอยู่เสมอค่ะ

ในบทความถัดไป เราจะคุยเรื่องการวัดไอคิวในปัจจุบัน และข้อสอบแบบไหนถึงจะเรียกว่าน่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุด คลิกอ่านต่อที่นี่ได้เลยค่ะ

ใครอยากสมองดี รู้เทคนิคการพัฒนาตัวเอง ทั้งทักษะการคิดและทักษะภาษาควบคู่ไปด้วยกัน ติดตามความรู้ดีๆ อีกมากมายกับ อ. ผึ้ง ได้ที่นี่ หรือทางเฟสบุ๊ค อ. ผึ้ง อารดา : English Brain


บทความมีลิขสิทธิ์: ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือเนื้อหาบางส่วนไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: