“หนูตั้งเป้าหมายว่าจะเก่งภาษาให้ได้ ตั้งใจฝึกต่อเนื่องมาหลายปี แต่ทำยังไงก็ไม่พัฒนาขึ้น?”
เรื่องวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของนักเรียนคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของหลายๆ คน รับรองว่าเจอกันถ้วนหน้าค่ะ แม้แต่ อ. ผึ้ง เองครั้งหนึ่งก็เคยติดล็อคตรงนี้เหมือนกัน จนมาย้อนคิดหาสาเหตุและค้นพบกฏสำคัญของคำว่า “วินัย” ที่ตัวเองดัน (เคย) ใช้ผิดมาตลอด ใครที่กำลังเจอปัญหาเรื่องการฝึกภาษา วันนี้เราจะมาปลดล็อคไปพร้อมกันค่ะ
เริ่มต้นฝึกภาษา
สำหรับหลายๆ คน การมองหาพลังใจเพื่อ “เริ่มต้น” ลงมือทำอะไรบางอย่างว่าเป็นเรื่องยากแล้ว การฝึกฝนให้ “ต่อเนื่อง” เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดูเป็นเรื่องยากกว่า นั่นเพราะคราวนี้นอกจากใช้พลังใจแล้ว ยังต้องใช้การจัดสรรเวลาอย่างถูกต้องด้วย ซึ่งก็คือ “วินัย”
แต่ถ้าเราตีความคำว่า “วินัย” ได้ไม่ครบถ้วน มันอาจกลายเป็นกับดักที่หลอกให้เราวิ่งวนลูปที่เดิมก็ได้
วินัยการฝึกภาษา
วินัย – คำนี้ของหลายคนอาจหมายถึงการแบ่งเวลาว่างในแต่ละวันเพื่อมาทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ ต่อเนื่อง โดยไม่ขี้เกียจ ไม่มีข้ออ้าง และไม่ล้มเลิก
ตัวอย่างคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษ เพื่อเตรียมสอบ หรือเพื่ออยากพูดสื่อสารได้ การสร้างวินัยคือการจัดตารางเวลา เช้าท่องศัพท์ บ่ายเรียนแกรมม่า ตกเย็นทำแบบฝึกหัด ตบท้ายด้วยการฟังเพลงฝรั่งที่ชอบสักรอบสองรอบก่อนนอน
ทุ่มเกินร้อยขนาดนี้ เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า แต่…แต่เราอาจลืมไปว่าการลงแรงทำงานหนักกว่า ไม่ได้เท่ากับความสำเร็จที่มากกว่าเสมอไป!!
“หนูขยันแทบตายค่ะอาจารย์ แต่ยังไม่เก่งขึ้นสักที”
กับดักของ “วินัย”
หลายคนขยันจน “ท้อใจ” และสุดท้ายก็ “ล้มเลิก” เพราะเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยกลับมาเช็คตัวเองว่า สิ่งที่เราทำอยู่มัน “ถูกต้อง” หรือเปล่า
กับดักข้อแรกคือ ถ้าเราบังเอิญไปได้รับ “ความรู้ที่ผิด” “วิธีที่ผิด” หรือแม้แต่ “แบบอย่างที่ผิด” ต่อให้มีวินัยฝึกไปอีก 10 ปี ก็สำเร็จได้ยาก
เพราะชุดความรู้มันผิดตั้งแต่เริ่ม…
และเผลอๆ การใช้วินัยมาตอกย้ำสิ่งที่ผิดซ้ำๆ ลงไปอีก ผลจะยิ่งแย่กว่าเดิมด้วยนะคะ
กับดักข้อสองคือ ลองมาเช็คกันสิว่า เรากำลังหลอกตัวเองว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ (สักวันก็จะเก่งเองแหละ) โดยไม่เคยหาเวลาทบทวน ประเมิน และวัดประสิทธิภาพของตัวเองเป็นระยะๆ หรือเปล่า
การใช้แต่วินัยพุ่งชน โดยไม่ประเมินสถานการณ์ตรงหน้าเพื่อปรับกลยุทธ์เลย ก็คล้ายๆ การ “ดันทุรัง” นะคะ เรากำลังเป็นคนดื้อที่หวังจะตัดต้นไม้ให้หมดป่า แต่ยังก้มหน้าก้มตาใช้ขวานทื่อๆ เล่มเดียว (ที่ไม่ยอมลับคมด้วย) อยู่หรือเปล่า?
ที่แย่กว่าคือ ถ้าใครๆ ก็หันไปใช้เลื่อยไฟฟ้ากันหมดแล้ว แบบนี้จะขยันอีกกี่ปีเราก็คง “เหนื่อย” เหมือนเดิม
บทสรุปคือ
เพราะโลกเปลี่ยนไป ตัวเราเองก็ควรเปลี่ยนตาม
จากศาสตร์การสอนที่ อ. ผึ้ง ได้ฝึกฝนมาตลอด ทำให้รู้ว่า “ภาษาดิ้นได้” เมื่อโลกเปลี่ยน ภาษาก็เปลี่ยนเช่นกันค่ะ
การจะฝึกภาษาหรือทักษะใดให้สำเร็จ คำว่าวินัยจึงต้องมีทั้ง
- การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
- การปรับและพัฒนาระหว่างทาง
จำนวนของคำศัพท์ที่เราอยากเก่งภาษาไม่ใช่เรื่องยาก หลักคิดสำคัญคือ “วินัย” ที่ถูกต้อง ฝึกบ่อยๆ ฝึกอย่างใส่ใจ ฝึกไปและปรับแก้ไขไปด้วย นั่นแหละค่ะ “ความสำเร็จ” ถึงจะเดินเข้ามาเคาะประตู
Discipline requires not only consistency, but also adjustment and improvement along the way.
อ. ผึ้ง อารดา
บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain