อ. ผึ้ง ชวนคุยเรื่องเคล็ดลับเก่งภาษาอังกฤษอยู่บ่อยๆ วันนี้เรามาคุยเรื่องเคล็ดลับสมองดีกันบ้าง ตามคอนเซ็ปต์ English Brain – การสร้างสมองภาษาอังกฤษ ที่ดีต้องมีทั้งทักษะภาษาและความคิดคล่องแคล่ว เพื่อการเรียนรู้ฉับไว วันนี้เรามาดูเทคนิคพัฒนาสมองและความจำแบบง่ายๆ 5 ข้อกันค่ะ


หลายคนมองว่าความจำดี หรือไม่ดี เป็นเรื่องของอายุ ยิ่งอายุเพิ่มขึ้น ความจำก็ต้องแย่ลงสินะ อ่ะ…งั้นก็ปล่อยเลยตามเลย ผลลัพธ์คือประสิทธิภาพความคิดและความจำก็ยิ่งถอยหลังตามที่เราคาดจริงๆ และเผลอๆ อาจเร็วกว่าคาดด้วย

ความจริงคือ อายุมีส่วนเกี่ยวอยู่บ้าง แต่เน้นว่า “บ้าง” นะคะ เพราะนอกจากเรื่องความแตกต่างของประสิทธิภาพสมองและร่างกายแต่ละคนแล้ว มันขึ้นกับการรู้เทคนิคความจำ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องด้วย นั่นหมายความว่าถ้าเรารู้เทคนิคการฝึกสมองที่ถูกต้องก็สามารถช่วยให้ความจำดีขึ้น และชะลออาการหลงลืมง่ายเมื่ออายุมากขึ้นได้ด้วย

สำหรับ 5 เทคนิคง่ายๆ วันนี้ อ.​ ผึ้ง คอนเฟิร์มว่าใช้กับตัวเองอยู่ตลอด และใช้มานานมากแล้ว ก็ร่างกายและสมองของเรามีหนึ่งเดียวเท่านั้นนี่คะ เสื่อมแล้วซ่อมยาก เปลี่ยนใหม่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใครอยากได้ความจำดีที่จะอยู่กับเราไปนานๆ มาดูกันค่ะ

1. Break the routine – เลิกทำสิ่งเดิมๆ

เวลาทำแต่สิ่งเดิมๆ สมองจะเกิดอาการขี้เกียจ เพราะกิจกรรมที่เราทำซ้ำๆ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ทุกวันๆ กลายเป็นอัตโนมัติไปซะหมด อย่างเช่น ทำอาหารแบบเดิมทุกวัน ซื้ออาหารร้านเดิม กินเมนูเดิม ไปเรียนหรือทำงานด้วยเส้นทางเดิม แวะร้านเดิม (ที่ต่อให้เดินหลับตาก็ยังไปถูก!)

แบบนี้เหมือนจะดี แต่ไม่ดี เพราะบอกแล้วว่า เมื่อทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ สมองจะขี้เกียจ ไม่ต้องจำข้อมูลอะไรใหม่ๆ ให้เหนื่อยก็ใช้ชีวิตประจำวัน (แบบเดิมๆ) ได้นี่นา แต่พอถึงเวลาต้องป้อนข้อมูลใหม่ลงไป สมองกลับรับไม่ไหว แถมใจไม่สู้เพราะกลัวเป็นเรื่องยาก ทำให้เราจำอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยได้เลย (-_-!)

อ. ผึ้ง แนะนำให้ลองเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำแต่ละวันบ้าง แวะร้านใหม่ๆ ลองกลับบ้านเส้นทางใหม่ๆ ลองหาความรู้ในเรื่องใหม่ๆ หรือทดลองใช้แอพลิเคชั่นตัวใหม่ๆ ถ้าวันไหนไม่สะดวกทดลองของใหม่ ลองสลับตารางเวลากิจกรรมต่างๆ ของเราแทนก็ได้ค่ะ

2. Brainteaser / Puzzle – เล่นเกมฝึกสมอง

เกมฝึกสมองไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเล็กเท่านั้น ในสหราชอาณาจักร (UK) เกมฝึกสมองเป็นกิจกรรมฮิตสำหรับผู้ใหญ่ ไปถึงผู้สูงอายุเลยค่ะ ในร้านหนังสือและร้านค้าตามสถานีรถไฟจะมีโซนหนังสือเกมฝึกสมองขายเสมอ เวลา อ. ผึ้ง เดินทางไปทำงานและกลับบ้านมักจะเห็นหนังสือเหล่านี้วางขายตามสถานีรถไฟใต้ดิน เวลานั่งรถนานๆ ผู้โดยสารหลายคนมักจะหยิบหนังสือพวกนี้ออกมาเล่นเกมฆ่าเวลาเพลินๆ (บางครั้งก็รวมทั้ง อ. ผึ้ง ด้วยแหละ)

เกมฝึกสมองแบบง่ายๆ ที่ อ. ผึ้ง แนะนำสำหรับฝึกความจำดี คือ

  • เกมที่เกี่ยวกับคำศัพท์ เช่น เกมอักษรไขว้, เกมสร้างคำศัพท์ใหม่, เกมทายคำศัพท์
  • เกมที่เกี่ยวกับตัวเลข เช่น เกมคำนวณ, เกม Sudoku
  • เกมวางแผน/ตรรกะ เช่น บอร์ดเกม, เกมหมากรุก, ลูกบิด Rubik

เกมอะไรที่ทำให้สมองเราได้คิด ได้แก้ปัญหา ใช้ได้ทั้งนั้นค่ะ ทุกวันนี้ชั้นหนังสือของ อ. ผึ้ง เอง เกือบครึ่งคือหนังสือเกี่ยวกับเกมและการฝึกสมองทั้งนั้น วงการนี้เข้าแล้วออกยากจริงๆ (^-^)

3. Learn a new language – เรียนภาษาใหม่ๆ

เราคุยกันบ่อยๆ อยู่แล้วว่า การเรียนภาษาใหม่ช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นได้จริง ไม่ใช่แค่การประมวลข้อมูล แต่เรื่องความจำด้วยค่ะ

นั่นเพราะเวลาเรียนภาษาใหม่ๆ เราต้องจดจำคำศัพท์ สำนวน เรียนรู้วิธีสร้างประโยคใหม่ๆ และฝึกการออกเสียงไปด้วย ต่อให้ใครจะบอกว่าเรียนภาษาต้องเน้นความเข้าใจ แต่ยังไงความจำก็ต้องควบคู่ไปด้วยค่ะ ถ้าเข้าใจแต่ไม่รู้คำศัพท์ ก็สื่อสารไม่ได้อยู่ดี

การเรียนภาษาใหม่ ไม่ใช่แค่ได้ความสนุกและโอกาสดีๆ ในชีวิตเพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าคนที่สามารถพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษามักมีสมองที่ยืดหยุ่นกว่า และความจำก็ดีมากกว่าคนที่พูดได้ภาษาเดียวด้วยค่ะ

การเรียนภาษาใหม่ ต้องใช้ความจำ และกลับกันก็ช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ด้วย

อ. ผึ้ง อารดา

4. Write things down – จดด้วยมือ

รู้นะว่าเดี๋ยวนี้การบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือ เป็นเรื่องง่าย การยกมือถือขึ้นถ่ายรูปเนื้อหา (บนกระดานหรือจากหนังสือ) มาเลยง่ายกว่าการจดลงสมุดด้วยตัวเองเยอะ

แต่งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่าการจดหรือเขียนด้วยมือช่วยให้เราจำข้อมูลนั้นได้ดีกว่าค่ะ

การจดบันทึกด้วยมือเป็นการบังคับให้สมองเราต้อง “ใส่ใจ” จดจ่อ และมีสมาธิกับเรื่องนั้นๆ เพิ่มขึ้น พอมีสมาธิกับเรื่องไหนแล้ว เราจะจำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้แม่นยำกว่า และนานกว่าด้วย

อ. ผึ้ง แนะนำให้หาสมุดโน้ตไว้ใกล้มือสักเล่ม ถ้าอะไรสำคัญจริงๆ ก็ “จด” ซะ

5. Get enough sleep – นอนหลับให้เพียงพอ

ข้อนี้สำคัญมาก ใครเคยนอนไม่ค่อยพอ หรือชอบนอนดึก แล้วตื่นมามึนๆ ไปครึ่งวัน ทำงานผิดพลาดบ่อย ความจำแย่ลง คงเข้าใจปัญหาและความเกี่ยวข้องของการนอนกับสมองดีค่ะ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า การนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเราลดลงได้ถึง 40% เนื่องจากสมองสามารถประมวลข้อมูลได้ช้าลง และสูญเสียการโฟกัส

ระหว่างที่เรานอนหลับลึก นอกจากร่างกายจะได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สิ่งที่มหัศจรรย์มากคือ สมองก็ได้ใช้เวลาช่วงที่เราหลับลึกทำการดีทอกซ์สิ่งไม่จำเป็นออก ขณะเดียวกันสิ่งที่เราได้เรียนรู้ใหม่ในช่วงกลางวันจะถูกจัดระบบระเบียบใหม่ในสมองช่วงกลางคืนที่เราหลับลึก

เมื่อตื่นมาพร้อมสมองที่โปร่ง โล่งเบา นอกจากเราจะรู้สึกสดชื่นแล้ว ประสิทธิภาพสมองยังเพิ่มขึ้น ความคิดก็เฉียบคม ฉับไวขึ้น และความจำของเราก็ดีขึ้นตามด้วย

ทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทันที และวันนี้เลย ถ้าใครกำลังรู้สึกความจำเริ่มแย่ สมองล้า สมาธิสั้นลง อย่ารีรอค่ะ อะไรที่เชื่อว่าดีกับตัวเราเอง ควรลงมือทำทันที เพราะ “The best time for new beginnings is NOW.” เวลาสำหรับการเริ่มต้นที่ดีที่สุด ก็คือตอนนี้นั่นแหละ ^-^

สำหรับผู้ที่สนใจคอร์สปั้นสมองใหม่กับ อ. ผึ้ง เพื่อเรียนรู้วิธีสร้างสมองดี ความคิดฉับไว และสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ได้เร็ว อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำบางส่วนไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาตนะคะ

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: