อันที่จริง การเรียนภาษาอังกฤษให้สำเร็จไว มีอยู่หลายเทคนิคมากค่ะ ไม่ว่าจะฝึกพูด ฝึกฟัง ฝึกอ่าน แล้วแต่ว่าจะเน้นทักษะไหนก่อน หรือจะเรียนตามหลักสูตรไหนก่อน สำหรับ อ. ผึ้ง เอง ก็มีเทคนิคเด็ดข้อหนึ่งที่สำคัญมากกับการเริ่มเรียนภาษาใหม่ๆ นั่นคือ การเลือกคำศัพท์


การจำคำศัพท์ใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด เป็นหนึ่งในเทคนิคการเรียนที่ช่วยให้เราเข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้เร็วที่สุด แต่ประเด็นสำคัญที่ อ. ผึ้ง อยากเน้นอยู่ที่ว่า การจำคำศัพท์นั้นต้องมีหลักการที่ถูกต้องด้วยนะคะ ไม่ใช่เจอคำไหนก็จดและจำไปเสียหมด (-_-!) แบบนั้นสมองเราคงมีพื้นที่บรรจุไม่พอ และทำได้ไม่ทันในระยะเวลาจำกัดด้วย

ควรรู้คำศัพท์กี่คำถึงจะสื่อสารได้?

ผลวิจัยด้านภาษาศาสตร์เมื่อปี 1964 ทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของจำนวนคำศัพท์กับความสามารถในการเข้าใจภาษาอังกฤษของผู้เรียน ตามด้านล่างนี้เลยค่ะ

  • การเรียนคำศัพท์ที่ใช้บ่อยจำนวน 1,000คำ ในภาษานั้น จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประมาณ 79% ของงานเขียนประเภทบันเทิงคดี (fiction) และประมาณ 76% ของงานเขียนประเภทสารคดีและข้อเท็จจริงทั่วไป (non-fiction) 
  • การเรียนคำศัพท์ที่ใช้บ่อยจำนวน 2,000คำ ในภาษานั้น จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประมาณ 86% ของงานเขียนประเภทบันเทิงคดี (fiction) และประมาณ 84% ของงานเขียนประเภทสารคดีและข้อเท็จจริงทั่วไป (non-fiction) และประมาณ 92% สำหรับการพูดในชีวิตประจำวัน
  • การเรียนคำศัพท์ที่ใช้บ่อยจำนวน 3,000คำ ในภาษานั้น จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจประมาณ 89% ของงานเขียนประเภทบันเทิงคดี (fiction) และประมาณ 88% ของงานเขียนประเภทสารคดีและข้อเท็จจริงทั่วไป (non-fiction) และประมาณ 94% สำหรับการพูดในชีวิตประจำวัน

แค่เห็นตัวเลขคงทำให้หลายคนโล่งใจขึ้นเป็นกองเลยใช่ไหมคะ อ. ผึ้ง ขอขยายความด้านบนอีกนิดว่า คำศัพท์ที่เราจะนำมารวบรวมเป็น 1,000 (หรือ 2,000 / 3,000) คำ สำหรับการเริ่มฝึกภาษาอังกฤษให้เก่งเร็วขึ้น ไม่ใช่การมองหาคำศัพท์ที่เราชอบ คำศัพท์ยากๆ หรือคำศัพท์ไหนก็ได้ที่เราเปิดดิกฯ เจอ (แล้วตะลุยจดให้หมด)

คำศัพท์ที่จะท่องแล้วได้ประโยชน์สูงสุดจริงๆ คือคำศัพท์ที่คัดแล้วว่าใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน

ทิปการจำคำศัพท์ได้เร็วขึ้น

สำหรับผู้เริ่มต้น การเรียนภาษาโดยเริ่มจากคำศัพท์ที่ใช้บ่อยก่อนจะให้การจดจำและการฝึกฝนเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะเมื่อเจอบ่อยๆ ก็ต้องถูกกระตุ้นความจำกันเป็นธรรมดา แต่นอกจากเลือกคำศัพท์ใช้บ่อยแล้ว อ. ผึ้ง มีทิปง่ายๆ อีก 3 ข้อมาฝากด้วยค่ะ

1. เลือกคำศัพท์ที่ตรงกับเป้าหมายของเรา

แต่ละคนมีเป้าหมายในใจไม่เหมือนกัน ต่อให้เจอคำศัพท์ใช้บ่อยแล้ว แต่ถ้าเป็นคำศัพท์ที่เราต้องนำไปใช้ทันทัน (หรือในอนาคตอันใกล้) อย่างเช่น ต้องเอาไปสอบ ต้องเอาไปใช้สัมภาษณ์งาน หรือต้องใช้เพื่อติดต่องาน แบบนี้จะสร้างแรงจูงใจให้อยากเก่งเร็วๆ และจำได้แม่นขึ้นด้วยค่ะ

2. เรียนพร้อมตัวอย่างประโยค

หลายคนชอบท่องจากลิสต์คำศัพท์แบบสั้นๆ หรือจากแฟลชการ์ด เพราะสะดวกดี แต่การท่องแค่คำแปลสั้นๆ ก็อาจทำให้เราพลาดใจความสำคัญไปได้ นั่นคือความเข้าใจความหมายอย่างแท้จริงและการนำไปใช้อย่างถูกต้อง

อ. ผึ้ง แนะนำให้เขียนตัวอย่างประโยคลงไปด้วยอย่างน้อย 2 ประโยคนะคะ เวลาจะดึงคำศัพท์มาใช้จริงเราจะได้รู้ว่าควรวางไว้ตำแหน่งไหน และคำศัพท์นั้นยังมีความหมายอะไรอื่นๆ อีกได้บ้าง

3. ทบทวนและนำมาใช้จริง

แน่นอนว่าการท่องคำศัพท์ที่ใช้บ่อยไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้นได้ถ้าเราไม่ได้หยิบมาทบทวนบ่อยๆ ด้วย

ยิ่งกว่านั้นคือ การทบทวนบ่อยๆ ก็ยังไม่สำคัญเท่าการลองหยิบคำศัพท์เหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริงด้วย ถ้าหาโอกาสใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่บ่อย หรือไม่มีคู่ซ้อม อ. ผึ้ง แนะนำให้ลองฝึกสร้างประโยคใหม่จากคำศัพท์นั้นหลายๆ แบบค่ะ จะลองเขียนหรือลองพูดกับตัวเองก็ได้ เป็นการฝึกคิดและเช็คความเข้าใจของตัวเองไปพร้อมกันเลย

สรุปก็คือ เทคนิคท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับคนเริ่มต้น หรืออยากทบทวนพื้นฐานเดิม สิ่งสำคัญคือการรู้วิธีเลือกคำศัพท์ให้ถูกต้องเสียก่อน เราไม่จำเป็นต้องรู้คำศัพท์ทุกคำบนโลกนี้ แค่รู้เท่าที่จำเป็นกับเป้าหมายของเรา และคำศัพท์ที่ต้องใช้บ่อยๆ ก่อน รับรองการเรียนภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องง่ายขึ้นแล้วค่ะ

เคล็ดลับสำคัญคือ การมีตัวอย่างประกอบหลายๆ แบบ นอกจากช่วยให้เรา “จดจำ” ความหมายได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เรา “เข้าใจ” การใช้คำศัพท์นั้นในบริบทต่างๆ อย่างถูกต้องด้วยนะคะ อ. ผึ้ง คอนเฟิร์มค่ะ


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำไปเผยแพร่ต่อนะคะ

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: