อยากขึ้นไปเหยียบยอดเขา เพื่อเห็นวิวงดงาม สูดอากาศบริสุทธิ์ที่น้อยคนเคยสัมผัส แต่ดันเกลียดการเดินฝ่าแมกไม้ เบื่อต้นหญ้า สายน้ำ ระหว่างทาง…
คนอยากเก่งภาษาอังกฤษ คงได้ยินมานักต่อนักแล้วว่า อยากสำเร็จต้องตั้งเป้าหมาย ต้องลงมือทำ แล้วไปให้ถึงฝัน ถึงดวงดาว ถึงอวกาศ อะไรก็ว่าไป ใช่ไหมคะ? แต่สุดท้ายก็บินกลับมาตายรัง เอ๊ย…กลับมาอยู่จุดเดิมทุกที ด้วยสาเหตุว่า “หมดไฟ” มันเพราะอะไรกัน!
เรื่องการหมดไฟ หมดพลัง ระหว่างเดินตามความฝัน เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ โดยเฉพาะดันมาหมดกับการเรียนภาษาอังกฤษด้วย อ. ผึ้ง บอกเลยว่าเรื่องอภิมหาธรรมดา เพราะภาษาเป็นทักษะที่ไม่ได้ฝึกกัน 3 วัน 7 วัน แล้วชำนาญเลย บางคนหลายเดือน บางคนหลายปี และบางคนยอมใช้ทั้งชีวิต
กับดักของการตั้งเป้าหมาย
จากประสบการณ์ของ อ. ผึ้ง เองด้วย และที่ฟังจากลูกศิษย์หลายคนด้วย แรกเริ่มเรียนภาษาใหม่ๆ วันที่อะไรๆ ยังเป็นเรื่องง่าย และก็เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกสนุก ตื่นเต้น ฮึกเหิม ลิสต์เป้าหมายใหญ่หลายสิบข้อ
แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อผ่านสู่บทเรียนที่ยากและยาวขึ้น เราก็เบื่อหน่าย แล้วก็ทำลืมๆ มันไปซะงั้น
การตั้งเป้าหมายให้การเรียนภาษาก็คล้ายการตั้งเป้าหมายการเรียนค่ะ ในมหาวิทยาลัย เราอยากได้ใบปริญญามาเพื่อจุดประสงค์นั่นนี่ เพื่อให้ได้งานดีๆ ได้หลักประกันเงินเดือนเพิ่ม ได้ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ
ต่อด้วยการลิสต์ “สิ่งที่ต้องทำ” เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น อย่างเช่น ต้องอ่านหนังสือก่อนนอนวันละ 2ชั่วโมง ต้องไปติวกับคนเก่งๆ ดังๆ ต้องฝังตัวในห้องสมุด ต้องเอาเวลาวันหยุดไปอ่านหนังสือ (อีกละ)

สุดท้ายพอพี่เบิร์ดถามว่า “เหนื่อยไหม สิ่งที่เธอทำอยู่…” ก็ปล่อยโฮออกมาอย่างเขื่อนแตก เพราะมันไม่ใช่แค่เหนื่อย แต่เหนื่อยแล้วบางคนดันทำไม่สำเร็จด้วย
นั่นเพราะการตั้งเป้าหมายสวยๆ และการเขียนลิสต์ภารกิจแบบมือโปรอีกหลายๆ ข้อ มันสร้างนิสัยการเรียนภาษาของเราให้เป็น “ระบบ” ก็จริง แต่มันไม่มีความรู้สึกหรือ “ใจ” อยู่ในนั้น
เหมือนรถที่มีเครื่องยนต์แรง มีพวงมาลัยพาวเวอร์ แต่ไม่มีน้ำมัน
“ใจ” คือตัวแปรสำคัญ
เมื่ออยากขึ้นไปเหยียบยอดเขา เพื่อเห็นวิวงดงาม สูดอากาศบริสุทธิ์ที่น้อยคนเคยสัมผัส แต่ดันเกลียดการเดินฝ่าแมกไม้ เบื่อต้นหญ้า สายน้ำ ระหว่างทาง แล้วเมื่อไหร่จะก้าวขึ้นไปถึงยอดเขาได้สำเร็จคะ?
ถ้ามีร้านอาหารเจที่เจ๋งที่สุดอยู่หน้าบ้าน แต่เราเป็นสายกินเนื้อ ชอบลองของแปลก ลองคิดดูว่าเราจะรู้สึกตื่นเต้นกับการกินอาหารเจทุกวันไหม ต่อให้มันดีกับสุขภาพ
เผลอๆ หลายคนอาจเต็มใจลั้นลาออกไปหาเนื้อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น กินไกลๆ บ้านทุกวันมากกว่า เพราะเราชอบแบบนี้นี่นา อาจไม่ได้สุขภาพเต็มร้อย แต่กินแล้วอิ่มอร่อยได้เหมือนกันนะ
การเรียนที่มีแต่การตั้งเป้าหมาย และลิสต์สิ่งที่ “ควรทำ” แต่ถามจริงๆ ก็ “ฝืนๆ” เหมือนกันนะ แบบนี้แหละที่ทำให้เรา “หมดไฟ” ในการเดินต่อ
ทางแก้? เราต้องออกไปหาสิ่งที่ “ชอบ” แล้วทำการเรียนให้เป็นเรื่องสนุกค่ะ
“ใจ” กับการตั้งเป้าหมายในการเรียน
ถึงตรงนี้ลองย้อนกลับมองวิธีการเรียนภาษาของเราเองสิคะ เราพยายามยัดเยียดสิ่งที่เราคิดว่าดี แต่ไม่ได้ชอบ ลงในลิสต์ยาวเหยียดของเราอยู่หรือเปล่า
ลองถามตัวเองว่า “อยากทำ” สิ่งนั้นจริงๆ หรือเปล่า?
- ต้องท่องศัพท์ใหม่วันละ 10 คำ
- ต้องท่องจำ “ทุกแกรมม่า” ตามสูตรที่แชร์กันอย่างกับแจก “เลขเด็ด”
- ต้องหาเพื่อนฝรั่งมานั่งคุยด้วย อาทิตย์ละคน
- ต้องอ่านหนังสือต่างประเทศ เดือนละเล่ม
- และอะไรอีกล้านแปด
ถ้าเรา “ชอบ” และสนุกวิธีเหล่านี้ ก็ทำต่อไป แต่ถ้าจริงๆ แล้วเรา “ไม่ได้ชอบ” แทนที่มันจะช่วยให้เราถึงเป้าหมายได้เร็ว นั่นอาจเป็นการขัดขวางทางอ้อมก็ได้นะคะ
ก่อนที่ไฟริบหรี่จะดับสนิทไปเพราะขาด “ใจ” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญ ถึงเวลากลับมารื้อระบบการเรียนภาษาของเราใหม่ แล้วใส่ส่วนผสมที่พอเหมาะ ถูกใจเรา เข้าไปดีกว่าค่ะ
อยากรู้เทคนิคการ “เติมใจ” ให้การเรียนภาษาเป็นเรื่องสนุก ติดตามอ่านตอนจบได้ ที่นี่ นะคะ ^-^
บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain
2 ความเห็น