อ. ผึ้ง ได้ยินศัพท์คำนี้ครั้งแรกสมัยเริ่มทำงานที่ประเทศอังกฤษ เวลาเราประชุมอัพเดทงาน  คำนี้จะผลุบโผล่ออกมาเป็นระยะ มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเส้นโค้งเส้นเว้าหรอกค่ะ แต่มันเป็นการเปรียบเปรยกระบวนการเรียนรู้ของคนเราต่างหาก (^-^)


คำว่า “learning” คือ การเรียนรู้ ส่วนคำว่า “curve” คือ เส้นโค้ง ถ้าแปลตรงๆ ก็คือ “เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้” บางคนฟังแล้วอาจเกาหัวทันที ทำไมต้องเรียนกันโค้งๆ มันเดินเป็นเส้นตรงไม่ได้เหรอ? จะอ้อมไปไหน เลี้ยวลดกันทำไมให้เสียเวลา?

การเรียนรู้

การเรียนรู้ เกิดจากการรับข้อมูล ทักษะ ความรู้ หรือสิ่งใหม่บางอย่าง แล้วเกิดเป็นกระบวนการที่ทำให้เราเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาไปยังจุดที่ดีขึ้น จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็ได้ เปลี่ยนแปลงความคิดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มันต้องเปลี่ยนคู่กันทั้งสองอย่าง

เส้นโค้ง

เส้นโค้งมีได้ทั้งแนวระนาบ และแนวตั้ง ถ้าโค้งเป็นแนวระนาบ มันก็คือการอ้อมคดเคี้ยวไปมา แต่ถ้าเราจับเส้นโค้งนั้นตั้งขึ้น แล้วเงยหน้ามอง มันก็เป็นเส้นโค้งชัน มีขึ้นมีลง เหมือนเส้นกราฟ

เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้

พอจับสองคอนเซ็ปต์นี้มารวมกัน เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ก็คือเส้นกราฟที่บอกถึงความก้าวหน้า ความช้า หรือความเร็ว ในการเรียนรู้อะไรสักอย่างของคนเรา ในที่นี้ต้องเป็นความรู้หรือทักษะใหม่ที่เราเพิ่งเจอนะคะ

แน่นอนว่า เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ เราต้องมองมันเหมือนเส้นกราฟแนวดิ่งที่มีความโค้งชัน ไม่ใช่เส้นแนวระนาบที่อ้อมคดเคี้ยว

พูดง่ายๆ เส้นโค้งนั้นก็คือพัฒนาการหรือความเร็ว-ช้าในการเรียนรู้ทักษะใหม่นั้นๆ ค่ะ

ความไม่เท่ากัน

  • เส้นโค้งของแต่ละคนไม่เท่ากัน

แน่นอนว่าเส้นโค้งหรือพัฒนาการในการเรียนรู้ของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน พูดง่ายๆ บางคนหัวเร็ว บางคนหัวช้า บางคนความจำดี มีสมาธิสูง บางคนฟังหูซ้ายทะลุหูขวา

อีกอย่างที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ แรงจูงใจในการเรียนรู้ ด้วยนะคะ อย่างเช่น เวลาเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาใหม่ๆ ถ้าใครฮึด ไฟแรง อยากเก่งอยากพูดได้เร็วๆ ก็ตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ พัฒนาการก็ต้องสูงกว่า ไปได้เร็วกว่าคนที่โดนบังคับมาเรียนอยู่แล้ว

  • เส้นโค้งของแต่ละทักษะไม่เท่ากัน

และแน่นอนอีกว่า ทักษะ หรืองานแต่ละอย่างก็มีเส้นโค้งไม่เหมือนกัน งานง่ายๆ บางอย่าง แค่สอนงานหรือหัดเอาเองสักพัก รับรองไม่เกินครึ่งวัน เราจะเริ่มคล่อง วันที่สองเริ่มทำได้เร็ว วันต่อไปไม่ต้องพูดมาก หลับตาก็ทำได้ เพราะเป็นทักษะที่ต้องทำซ้ำๆ อย่างการคีย์ข้อมูลลงในตาราง

แต่งานบางอย่างซับซ้อน ต้องใช้หลายอย่างวิเคราะห์ประกอบกัน ผ่านไปเดือนแรกอาจยังมืดแปดด้าน ผ่านไปสัก 2-3 เดือนถึงเริ่มเห็นแสงสว่างรำไร บางทักษะอาจต้องค่อยๆ สะสมความชำนาญ เก็บเล็กผสมน้อยไปทีละนิด อย่างการเรียนภาษา ที่จะให้ชำนาญทุกทักษะในเดือนเดียวเลยไม่ได้

สำนวนภาษาอังกฤษเขาถึงมีอีกคำว่า “steep learning curve” หรือ “เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ที่สูงชัน” หมายถึงการเรียนรู้ทักษะที่ยาก งานที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้นานชัวร์ๆ

เส้นโค้งกับการพัฒนาตัวเอง

เพราะแต่ละคนและแต่ละงานมี “learning curve” ไม่เหมือนกัน ไหนจะปัจจัยแทรกอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมอีกล่ะ ถ้าธุรกิจไหนจะเริ่มงานใหม่สักชิ้น สมาชิกในทีมก็ต้องหันมาทำความเข้าใจกับจังหวะการเดินของแต่ละคน รวมทั้งแต่ละสเต็ปของงาน ที่ไม่เท่ากันนี่แหละค่ะ

เพราะฉะนั้นถ้าต้องทำงานเป็นทีม อย่าหงุดหงิดอารมณ์เสียนัก ถ้าจังหวะการเดินและการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจบังเอิญได้งานยากกว่า บางคนอาจบังเอิญหัวไวกว่า และบางคนอาจบังเอิญชำนาญในเรื่องที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว

จงให้เวลาปรับตัวสักพัก สำหรับคนที่ได้งานยากหรือมีการเรียนรู้ช้าไปบ้าง ตราบใดที่เขายังแสดงความตั้งใจจริง

อีกอย่างคือ ถ้าทักษะที่เรากำลังเรียนรู้จำเป็นต้องใช้เวลานาน “learning curve” ส่วนใหญ่ (ควรจะ) เป็นเส้นโค้งขึ้นสูง หมายถึงเราจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงปีแรกๆ แต่หลังจากนั้น เส้นโค้งจะเริ่มลาดชันน้อยลง พูดง่ายๆ คือถึงจะเรียนไปเรื่อยๆ แต่เหมือนไม่ค่อยได้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเลย อย่าเพิ่งท้อใจค่ะ

ยิ่งเวลาผ่านไป ความรู้ใหม่น้อยลง ไม่ได้แปลว่าการเรียนรู้ของเราถดถอย แต่อาจเพราะเราเริ่มชำนาญ และรู้รอบทักษะนั้นแล้วต่างหาก

ทิปจาก อ. ผึ้ง

ถ้าเข้าใจเรื่องเส้นทางเดิน และพัฒนาการของการเรียนรู้กันบ้างแล้ว ลองหันกลับมาประเมินสถานการณ์ของตัวเองสิคะ ถ้าเรากำลังเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้วรู้สึกกระบวนการนี้ “ยาก”  ก็อย่าเพิ่งท้อถอย จนล้มเลิก แต่ก็ไม่กดดันตัวเองเกินไปจนไม่เป็นอันกินอันนอนด้วยนะคะ

สปีดการเรียนรู้ระดับพอดีๆ คือต้องไม่กดดันตัวเอง แต่ก็ไม่ยืนอยู่กับที่

ทิปจาก อ. ผึ้ง อารดา

ไม่ว่าอัตราการเรียนรู้ของแต่ละคนจะเร็วช้าแค่ไหน สุดท้ายสิ่งที่ควรจะเหมือนกันคือ ยิ่งเวลาผ่านไป คนเราควรมีความรู้มากขึ้น เข้าใจงานที่ทำดีขึ้น ประสบการณ์สูงขึ้น และมีความชำนาญในทักษะนั้นเพิ่มขึ้น

อ้อ…อีกอย่างคือ นอกจากเรียนรู้ทักษะใหม่แล้ว ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และนำมาปรับให้ดีขึ้นด้วยนะคะ จะได้ไม่ผิดแล้วผิดอีกอยู่ที่เดิมไงล่ะ ^-^


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: