ใครๆ ก็รู้ การสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ภาษาต้องชัดเจน เป๊ะ…และตรงประเด็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ แต่บางทีก็ต้องมีช่วงที่เราจำเป็นต้องไม่ชัดเจน (กันบ้างแหละ) และถ้าต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะใช้ภาษาอังกฤษยังไงดี อ. ผึ้ง มีคำตอบให้ค่ะ (^-^)
การสื่อสารแบบไม่ชัดเจน จำเป็นต้องใช้เมื่อไหร่บ้าง? ง่ายๆ เลยก็อย่างเวลาที่เราต้องการให้คนฟังโฟกัสที่ภาพรวม ไม่เจาะรายละเอียด หรือเวลาที่เรายังไม่มีข้อมูลเป๊ะๆ แต่สามารถให้ข้อมูลโดยประมาณคร่าวๆ ได้ไงคะ
วันนี้เรามาดูเคล็ดลับภาษา เวลา “ไม่ต้องการความชัดเจน” กันค่ะ
ความชัดเจนในการสื่อสาร ภาษาอังกฤษคือ “precision” การสื่อสารได้ตรงประเด็น ข้อมูลแน่น เราจะเรียกว่า Precise communication – การสื่อสารที่ชัดเจน แน่นอนว่า ตรงข้ามกับการให้ข้อมูลแบบกว้างๆ ไม่เจาะจงรายละเอียดหรือตัวเลขที่แน่นอน เราจะเรียกว่า Vauge communication – การสื่อสารที่คลุมเครือ
แต่ความคลุมเครือก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป บางทีก็จำเป็นแหละ เพราะเราไม่ใช่อับดุล ใครจะไปรู้หมดทุกอย่างได้ทันทีทุกสถานการณ์
ขอเน้นว่าการให้ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่ใช่การให้ข้อมูลมั่วนะคะ แต่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่ใกล้เคียง
ข้อดีของการใช้ภาษา “ไม่ชัดเจน”
- การสนทนาลื่นไหล ไม่ติดขัด (ไม่ต้องเสียเวลาคิดมากหรือกลับไปหาข้อมูลก่อน)
- เน้นภาพรวม
- ง่ายต่อการนำเสนอ
คำศัพท์จำเป็น
ตัวอย่างคำศัพท์ด้านล่างสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับ ตัวเลข หรือคำนาม ที่เราต้องการบอกข้อมูลโดยรวมค่ะ ถ้าแปลเป็นไทยๆ ก็คล้ายกับการเติม “ประมาณ”, “ประมาณว่า”, “แบบว่า” นั่นแหละค่ะ
About / Around – ประมาณ
- The budget for this project is about one million baht.
- งบประมาณของโปรเจ็คต์นี้คือประมาณหนึ่งล้านบาท
Approximately – ประมาณ
- There are approximately 50 people working here.
- มีพนักงานทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ 50 คน
Almost – เกือบจะ
- The shirt is almost black.
- เสื้อเชิ้ตเกือบๆ จะเป็นสีดำ
Kind of – ประมาณว่า, คล้ายๆ กับว่า*
- It’s kind of a device that massages your back.
- มันเป็นคล้ายๆ กับอุปกรณ์ที่ใช้นวดหลัง
Up to – มากถึง, สูงสุดถึง
- International orders normally take up to 4 weeks to arrive.
- การสั่งซื้อจากต่างประเทศมักใช้เวลามากถึง (ไม่เกิน) 4 สัปดาห์ในการรับของ

** ถึงตรงนี้ หลายคนอาจกำลังคิดว่า “kind of” กับ “type of” มันแปลว่า “ประเภท” หรือ “ชนิด” ไม่ใช่เหรอ? คำตอบคือ “ใช่ค่ะ” นั่นคือหนึ่งในความหมายแบบตรงตัวของเขา แต่ในที่นี้เรายังสามารถเอามาใช้ในรูปประโยคที่บอกความ “ไม่ชัดเจน” หรือเปรียบเทียบความคล้ายคลึงได้ด้วย
บางครั้งจะเติมท้ายด้วยคำว่า “or so” ที่แปลว่า “หรืออะไรทำนองนั้น” เข้าไปด้วยก็ได้นะคะ
ประโยคบอกความไม่ชัดเจน
บางทีความไม่ชัดเจนก็ไม่ได้มาสั้นๆ เป็นตัวเลข หรือคำนาม แต่เราสามารถใช้เป็นรูปประโยคเลย
ในกรณีนี้ เราใช้ประโยคสั้นๆ มาเกริ่นนำก่อนจะง่ายกว่าค่ะ จะใช้ประโยคนำด้วย ใช้คำศัพท์ร่วมด้วยก็ได้นะ มาดูตัวอย่างกันต่อค่ะ
It’s not easy to say, but I’d guess…
- ตอบยากเหมือนกัน แต่ฉันเดาว่า…
A: How many people are coming tomorrow?
B: It’s not easy to say, but I’d guess there should be around 2,000 people.
I’m not really sure, but I think…
- ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คิดว่า…
A: What do they like?
B: I’m not really sure, but I think they enjoy fishing by the sea or mountain biking.
I can’t be exact, but I’d say…
- ฉันให้คำตอบแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่คิดว่า…
A: When will the team arrive?
B: I can’t be exact, but I’d say they should be here at almost 5 pm.
ทั้งคำศัพท์และตัวอย่างประโยคทั้งหมดที่ อ. ผึ้ง ให้ไว้นี้ สามารถใช้กับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน หรือในการทำงานก็ได้ค่ะ แน่นอนว่า ยิ่งในสถานการณ์ที่เป็นทางการมากขึ้น อย่างการให้ข้อมูลในที่ประชุม การให้ข้อมูลลูกค้า เรายิ่งควรจะใช้ประโยคที่เป็นทางการมากขึ้นตามไปด้วย
ทีนี้จะคุยกับใคร เวลานึกข้อมูลแบบเป๊ะๆ ไม่ออกก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แล้ว ตราบใดที่เราหาทางออก (ด้วยภาษา) ได้ การอธิบายก็ไม่ใช่เรื่องยากแน่นอนค่ะ
บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ
สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อธุรกิจปัง! งานรุ่ง! ติดตามอ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับเคล็ดลับภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคำศัพท์ และการพัฒนาสมอง ความจำ ได้ที่เว็บไซต์ http://www.ajarnarada.com และเฟสบุ๊ค อ. ผึ้ง อารดา : English Brain