ช่วงใกล้ๆ เริ่มวันใหม่ของปี มักจะมีคำว่า New Year’s Resolution ผ่านหูผ่านตามาให้เห็นบ่อย มันอาจแฝงตัวมากับบทความสื่อต่างๆ หรืออาจโผล่มาพร้อมกับคนรอบตัวเราเองนี่แหละ ว่าแต่ว่า มันคืออะไรนะ?

New Year’s Resolution คือความตั้งใจค่ะ เป็นความตั้งใจที่จะทำอะไรดีๆ ให้ตัวเอง นั่นเพราะพอเริ่มเข้าปีใหม่ ใครๆ ก็อยากเริ่มสิ่งใหม่ เป็นคนใหม่ อยากให้ชีวิตก้าวหน้า และมีความสุขมากขึ้น

เอ…แต่แนวคิดนี้มาจากไหน? ตั้งแต่เมื่อไหร่? และถ้าเราอยากคุยกับฝรั่งเรื่องความตั้งใจปีใหม่ของเราบ้าง จะพูดไงดี?

 

ความหมายคำศัพท์

คำว่า New Year’s Resolution ไม่ได้มากับยุคอินเตอร์เน็ตนะ แต่มีมาเนิ่นนาน น๊าน…นานเลยทีเดียว ในภาษาอังกฤษคำว่า Resolution เป็นคำนาม (noun) แปลว่า

  • คำปณิธาน
  • ความตั้งใจแน่วแน่
  • การแก้ปัญหา

พอมารวมกับ New Year กลายเป็น New Year’s Resolution คำนี้ก็เลยหมายถึง

  • คำปณิธานปีใหม่
  • สิ่งที่ตั้งใจจะทำในปีใหม่

 

ที่มาของ New Year’s Resolution

การฉลองปีใหม่ไม่ได้เริ่มขึ้นเมื่อมนุษย์เราค้นพบแอลกอฮอล์ ดอกไม้ไฟ หรือการนับเลขถอยหลังนะคะ (>-<) แต่การต้อนรับปีใหม่มาพร้อมการเริ่มยุคเกษตรกรรม ตั้งแต่อารยธรรมเมโสโปเตเมียโน่นเลย

ตามที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ชาวบาลิโลเนียนคือผู้บุกเบิกการเฉลิมฉลองปีใหม่ เมื่อสี่พันกว่าปีก่อนค่ะ พวกเขาเรียกช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนี้ว่า Akitu ซึ่งกินระยะเวลาถึง 12 วัน ถือเป็นการต้อนรับ “การก่อเกิดชีวิตใหม่” ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิพอดี และถือเป็นฤดูเริ่มต้นการเพาะปลูกด้วย

ชาวบาบิโลเนียน (Babylonian) คือผู้บุกเบิกการฉลองปีใหม่เมื่อ 4,000 ปีก่อน

ช่วงปีใหม่เรามักเริ่มต้นปีด้วยสิ่งดีๆ สำหรับคนไทยก็เข้าวัดทำบุญ ขอพรจากพระ ในช่วง Akitu ชาวบาบิโลเนียนก็เข้าวิหาร ถวายเครื่องบูชา และให้คำมั่นสัญญากับเทพเจ้าที่ตนนับถือ ว่าจะทำสิ่งดีๆ รับปีใหม่

หนึ่งในคำสัญญายอดฮิต คือการนำเงินไปคืนเจ้าหนี้ (เอ่อ…ปรากฏการณ์นี้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เลยทีเดียว) รวมทั้งข้าวของอื่นๆ ที่ยืมมาแล้วยังไม่คืน ก็ตั้งใจจะคืน (สักที)

 

ยุคอารยธรรมอียิปต์ – โรมัน

ในอารยธรรมอียิปต์ก็มีการเฉลิมฉลองปีใหม่คล้ายๆ กันค่ะ พวกเขาจะเข้าวิหาร ถวายเครื่องบูชา แก่เทพเจ้า Hapi หรือเทพแห่งแม่น้ำไนล์ เพื่อขอให้การเพาะปลูกและการเกษตรในปีนั้นอุดมสมบูรณ์

agriculture blur bread cereal

ต่อมา ชาวโรมันก็รับวัฒนธรรมนี้มาใช้ด้วย ถ้านับรอบปีตามแบบโรมันโบราณ เขาจะมีแค่สิบเดือน ต้นปีเร่ิมที่เดือนมีนาคมค่ะ ซึ่งก็เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิพอดีเหมือนกัน

การเพิ่มอีกสองเดือนเข้าไปในรอบปีเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 700 ปีก่อนคริสตศักราช แต่กว่าเดือนมกราคมจะถูกนับเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่จริงๆ ก็อีกหลายร้อยปีต่อมา ซึ่งก็คือประมาณ 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ชาวโรมันเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยการบูชาเทพ Janus – เทพแห่งการเริ่มต้นและสิ้นสุด หลายคนอาจเดาได้ว่า ชื่อของเทพ Janus ก็คือที่มาของชื่อเดือน January หรือเดือนมกราคมนั่นเอง

 

ยุคกลางของยุโรป

เหล่าอัศวินในยุคกลางของยุโรปก็มีการถวายสัตย์ปฏิญาณทุกปีเหมือนกันนะ แต่เขาจะทำกันหลังช่วงคริสต์มาสค่ะ (ก็ช่วงท้ายปีเก่า ย่างเข้าสู่ปีใหม่อีกนั่นแหละ) แต่งานนี้ไม่มีเทพเจ้า มีแต่นกยูง เอ๊ะ…มายังไง? นั่นก็เพราะ

ในช่วงยุคกลาง ชาวยุโรปถือว่านกยูง (peacock) เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม (integrity) และความสูงศักดิ์ (nobility)

ในพิธีปฏิญาณตน เหล่าอัศวินจะวางมือของตนบนนกยูงขณะกล่าวคำสัตย์อันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อแสดงจุดยืนและความจงรักภักดีต่อกษัตริย์

animal animal photography avian bird

ถึงแม้ช่วงเวลา “ปีใหม่” ของแต่ละอารยธรรมสมัยนั้นจะไม่ตรงกัน เพราะต้องนับเอาวันเวลาตามที่ตัวเองสะดวก แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือการให้คำมั่นสัญญาหรือตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่นค่ะ

 

ยุคใหม่ของ New Year’s Resolution

ในโลกยุคใหม่ ถึงแม้แนวคิดเรื่องการทำสิ่งดีๆ รับปีใหม่คงจะถูกส่งต่อๆ กันมาในหลายวัฒนธรรม และเรียกชื่อต่างกันไป แต่คำว่า New Year’s Resolution เริ่มใช้ครั้งแรกในอเมริกา เมื่อปี 1813 นี่เอง (ก็ถ้าเทียบกับอารยธรรมเมโสโปเตเมียแล้ว ถือว่าเพิ่งแป๊บเดียวนะคะ) คำนี้ถูกนำมาใช้ในบทความหนึ่ง โดยนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองบอสตันค่ะ

จากยุคบาบิโลเนีย จนถึงยุคที่มนุษย์บินไปดาวอังคาร กรอบจำกัดความของ New Year’s Resolution ถูกเปลี่ยนปรับไปเยอะทีเดียว การตั้งคำปณิธานปีใหม่กลายเป็นเรื่องยอดนิยมสำหรับทุกชนชั้น โดยไม่เกี่ยวกับศาสนา โดยเฉพาะในกลุ่มชาวอเมริกาและยุโรปค่ะ ปัจจุบันถูกส่งต่อไปอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว (ไทยก็ด้วยนะ)

จะว่าไป ปีใหม่เป็นเรื่องสากลที่ไม่ว่ามนุษย์จากวัฒนธรรมไหนก็คงคิดคล้ายๆ กัน ใครๆ ก็อยากเริ่มสิ่งใหม่ ให้ชีวิตดีขึ้นทั้งนั้น เนอะ…

ทุกวันนี้ เวลาพูดถึง New Year’s Resolution เราจะหมายถึงการให้สัญญากับตัวเอง หรือการตั้งใจอย่างแน่วแน่ ว่าเราจะเริ่มทำอะไรใหม่ ในปีใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ (สักที)

คำนี้มักใช้กับการเปลี่ยนอุปนิสัย พฤติกรรม หรือการจัดระเบียบชีวิตให้ตัวเองซะมากกว่าเรื่องทรัพย์สินภายนอกค่ะ

 

จะพูดเป็นภาษาอังกฤษยังไงดี?

เรื่องนี้ง่ายมาก จนหลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ เวลาพูดถึงความตั้งใจ หรือสิ่งที่จะทำในอนาคต เพียงขึ้นต้นประโยคด้วย future tense แล้วตามด้วย verb 1 หรือกริยาที่เราอยากทำลงไป แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว

  • [I will + Verb1]

อย่างเช่น

  • I will wake up early. – ฉันจะตื่นให้เช้าขึ้น
  • I will cycle to work. – ฉันจะขี่จักรยานไปทำงาน
  • I will lose 5 kilos. – ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม
  • I will read 5 English books. – ฉันจะอ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ได้ 5 เล่ม
  • I will spend more time with my family. – ฉันจะใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น

การตั้งเป้าหมายและให้คำสัญญากับตัวเองอาจเป็นเรื่องไม่ยาก แต่ที่ยากกว่า (จริงๆ อยากใช้คำว่าท้าทายกว่า เพราะมันไม่ได้ยาก แต่เดี๋ยวจะประโยคจะไม่คล้องกัน (>-<) คือการ “รักษาสัญญา” กับตัวเองนี่แหละ

 

My best year ever! – ปีที่ดีที่สุด

หลายคนเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม ด้วยไฟแรงเบอร์สิบ แต่เพียงไม่พ้นเดือนแรก ไฟก็เริ่มผะแผ่ว ก่อนจะดับลงก่อนพ้นครึ่งปี จะด้วยหลายเหตุผลและปัจจัย อะไรก็ว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่ ถ้าเรียกอาการนี้รวมๆ ว่า “แพ้ใจตัวเอง” คงจะไม่ผิดนัก

การตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป หรือเยอะเกินไป หรือไปเอาเป้าหมายคนอื่นมาเป็นเป้าหมายของตัวเอง (ซะงั้น) คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ และพาลจะทำให้เราใส่เกียร์ถอย ไม่เคยได้ลองชีวิตมันๆ ในสปีดเกียร์สอง – สาม – สี่ – ห้า สักที

ลองตั้งเป้าหมายให้ตัวเองสัก 3 ข้อ (เด็ดๆ) เพื่อไม่เป็นการกดดันตัวเองเกินไป ดีไหมคะ?

ปีใหม่นี้ ลองทบทวนเรื่องเก่าๆ หรือนิสัยไม่ดีเก่าๆ ของเราในปีที่ผ่านมา แล้วลองถามตัวเองดูสิคะว่า “ใจสู้ไหม?” เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ถ้าเชื่อว่าการ “เอาชนะตัวเอง” ได้เป็นเรื่องไม่ยาก และ “วินัย” เรามีเพียงพอ  ก็มาออกสตาร์ท “My best year ever!” พร้อมกันเลย ^-^

 


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ

สำหรับผู้สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาการทำงานของคุณก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: