มารู้จักวัฒนธรรมฝรั่ง และเรียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษสไตล์ Langscaper กับ อ. ผึ้ง กันต่อค่ะ อยากรู้ว่าตำนานหลอน (เล็กๆ) ของชาวไอริช ที่เป็นต้นกำเนิดเทศกาลฮาโลวีนและตะเกียงฟักทอง ตอนจบจะลงเอยยังไง? และฟักทองมาเกี่ยวอะไรด้วย? มาดูกันต่อเลยค่ะ


ความเดิมตอนที่แล้ว เพราะนิสัยเจ้าเล่ห์แบบไม่เลือกเป้าหมาย หรือความซ่าแบบไม่ดูตาม้าตาเรือของ “แจ็คจอมงก” หรือ “Stingy Jack” ทำให้เขาบังอาจไปต่อรองชีวิตกับท่านยมทูตเข้า แล้วดันทำได้สำเร็จด้วย

แต่ไม่ว่าแจ็คจะต้องรอถึงวันสิ้นอายุขัยของตัวเองตามตำนานแรก หรือการที่วิญญาณของแจ็คต้องหาทางไปสวรรค์ (ยังได้อีกเหรอ?) ด้วยตัวเองตามตำนานที่สอง ทั้งสองตำนานก็มีจุดจบเหมือนกันค่ะ

สวรรค์หรือนรก?

ในวัฒนธรรมตะวันตก ฝรั่งจะรู้จักคำว่า “ประตูมุก” กันดี ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Pearly Gates” บอกก่อนว่าประตูมุกไม่ใช่ประตูวัดนะคะ แต่เป็นชื่อเรียกประตูสู่สรวงสวรรค์ พูดง่ายๆ ก็คล้ายด่านตรวจวิญญาณเข้าเมือง (สวรรค์) นั่นแหละ นึกภาพแล้วเหนื่อยตามเลยทีเดียว

ตายแล้วก็ยังต้องมีภารกิจเช็คอินและรายงานตัวกันต่ออีก

เอาเป็นว่า เมื่อแจ็คเสียชีวิตแล้ว ดวงวิญญาณก็ต้องไปรายงานตัวกับเซนต์ปีเตอร์ หรือผู้เฝ้าประตูสวรรค์ เซนต์ปีเตอร์จะทำหน้าที่เช็ควีซ่า เอ๊ย… เช็คความประพฤติ ก่อนอนุญาตให้ดวงวิญญาณใดๆ ผ่านประตูสวรรค์ได้ค่ะ

แต่ในเคสนี้ พอเซ็นต์ปีเตอร์กูเกิลข้อมูลแล้ว ท่านสรุปได้ว่าแจ็คเป็นบุคคลที่มีความชั่วเต็มที่ ความดีไม่ปรากฏ ต้องโดนปฏิเสธเข้าเมืองสวรรค์แบบไม่ต้องเรียกมาสอบปากคำเพิ่มเลย ทำให้วิญญาณของแจ็คจำต้องหันหลังกลับ เพื่อเดินทางไปสู่นรกภูมิแทน (จนได้)

พอถึงปากประตูนรก แจ็คจอมงกก็เจอะกับยมทูตตนเดิมอีกครั้ง ก็ท่านยมที่แจ็คเลยใช้เล่ห์ต่อรองชีวิตไว้นั่นแหละ แค่สบตา ต่างฝ่ายก็นึกถึงสัญญาลูกผู้ชายที่เคยให้กันไว้ (ในบทความที่แล้ว)

ต่อให้แจ็คจะเลวครบสูตรยังไง แต่เมื่อท่านยมไม่สามารถทรยศคำสาบานของตัวเองได้ วิญญาณของแจ็คก็ไม่สามารถเข้าประตูนรกได้เหมือนกัน!

บทสรุปของแจ็คจอมงก

เมื่อกรรมตามทัน แจ็คจำต้องก้มหน้ารับผลที่ตัวเองก่อไว้แล้วค่ะ สวรรค์ก็ไม่รับ นรกก็ไม่แล แจ็คเกาหัวสองที แล้วคิดในใจว่า แล้วจะให้กระผมไปอยู่ไหน? เป็นวิญญาณเร่ร่อนไปในความมืดมิดของโลกมนุษย์หรือไง? (เดาว่าสมัยนั้นยังไม่มีไฟถนนแหงๆ)

ปิ๊งป่อง…ถูกต้องค่ะ นั่นแหละคือคำตอบสุดท้ายของท่านยม แจ็คต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนตลอดไป

แต่ยมทูตก็ไม่ใจร้ายเกินไปนัก ท่านได้โยนก้อนถ่านที่ติดไฟจากขุมนรกก้อนหนึ่งให้แจ็ค พอเขารับก้อนถ่านมา ก็หาหัวผักกาดมาหนึ่งหัว (อันนี้ไม่ทราบจริงๆ ว่าจู่ๆ พี่ไปหาหัวผักกาดมาจากไหนในบัดดล) แจ็คเจาะหัวผักกาดเป็นรูกลวงตรงกลาง แล้ววางก้อนถ่านไฟนรกนั้นไว้ด้านใน เพื่อใช้เป็นตะเกียงส่องนำทาง

ผลแห่งการเล่นเล่ห์ (แบบไม่คิดเล๊ย…) กับโชคชะตา ทำให้ดวงวิญญาณของแจ็คต้องเร่ร่อน ท่องภพภูมิมนุษย์พร้อมตะเกียงฟักทองและไฟนรกไปตลอดกาล

ตะเกียงเวอร์ชั่นใหม่

ว่ากันว่า “ตะเกียงหัวผักกาดของแจ็ค” หรือ “Jack O’ Lantern”  คือแรงบันดาลใจให้ชาวไอริชและชาวสก็อตติชคิดทำตะเกียงในเวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นบ้าง เมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวบ้านจะนำหัวผักกาด ผลน้ำเต้า หรือหัวมันฝรั่ง ไปเจาะรู คว้านเนื้อตรงกลางออก แล้วใส่ก้อนถ่านที่ติดไฟแดงๆ ลงไป และต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเทียนไข เพื่อความสะดวก

อ้อ…อ. ผึ้ง บอกก่อนว่า สำหรับเทศกาลฮาโลวีนในปัจจุบัน ฝรั่งเขาไม่ได้ใช้แสงจากตะเกียงผักเพื่อส่องนำทางบนถนนนะคะ แบบนั้นตะเกียงอาจพาไปไม่ถึงบ้านแน่ๆ เขาจะจุดตะเกียงผักเหล่านี้แล้ววางไว้หน้าประตูบ้าน ริมหน้าต่าง หรือบันไดเท่านั้น

pumpkin display
Photo by Artie Siegel on Pexels.com

จากหัวผักกาด กลายมาเป็นฟักทองได้ยังไง?

ในช่วงปีค.ศ. 1845 เกิดภาวะทุพภิขภัยขึ้นในประเทศไอร์แลนด์ค่ะ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Great Famine” หรือ “Irish Potato Famine” เป็นทุพภิขภัยครั้งใหญ่ และในกรณีนี้สำหรับฝรั่งหมายถึง “ช่วงข้าวยากขาดมันฝรั่ง” จ้า

คำว่า “มันฝรั่ง” ในภาษาอังกฤษคือ “potato” เป็นอาหารหลักของชาวไอริช เหมือนที่ข้าวเป็นอาหารหลักของไทย แล้วสมัยนั้นเขาไม่ปลูกพืชผลอื่นทดแทนกันซะด้วย เพราะฉะนั้นการขาดมันฝรั่งคือวิกฤตใหญ่ของประเทศเลยล่ะ

ช่วงที่เกิดโรคระบาดหนักกับผลผลิตมันฝรั่ง ชาวไร่ขุดมันฝรั่งขึ้นจากดินเพียงไม่กี่วัน มันฝรั่งก็เหี่ยวเฉาเน่าดำจนทานไม่ได้ วิกฤตนี้สร้างความอดอยากแร้นแค้นไปทั่วประเทศ ในช่วงเวลาเกือบ 10 ปี ชาวไอริชเสียชีวิตไปเกือบ 1 ล้านคน (คิดเป็นประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมดสมัยนั้น) และอีกประมาณ2 ล้านคนก็อพยพหนีตายจ้าละหวั่น

ชาวไอริชจำนวนกว่า 7 แสนคนตัดสินใจอพยพไปประเทศอเมริกา จังหวะนี้เองค่ะที่วัฒนธรรมไอริชหลายอย่างถูกเผยแพร่และส่งผ่าน รวมทั้งวัฒนธรรมการประดิษฐ์ “Jack O’Lanterm” หรือตะเกียงของแจ็คด้วย

เรื่อง “Irish Potato Famine” หรือทุพภิขภัยที่กวาดล้างประเทศไอร์แลนด์ได้ขนาดนี้ มีรายละเอียดน่าสนใจเยอะมากค่ะ ไว้ อ. ผึ้ง จะมาเล่าให้ฟังคราวหน้า (^-^)

เทรนด์ฟักทองและวัฒนธรรมของโลกใหม่

สมัยแรกเริ่ม ตะเกียงในคืนฮาโลวีนก็ยังเป็นตะเกียงหัวผักกาด ตะเกียงมันฝรั่ง หรือตะเกียงน้ำเต้าอยู่แหละ แต่พอชาวไอริชลงเรือปุ๊บ กระโดดขึ้นฝั่งอเมริกาปั๊บ กลับพบว่าดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลนี้มีพืชผักแปลกใหม่มากมาย และฟักทองก็เป็นหนึ่งใน “ของใหม่” สำหรับชาวไอริชด้วย

ว่ากันว่าถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอเมริกา หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Native American” จะปลูกฟักทองมาแล้วกว่า 5 พันปี แต่ชาวยุโรปบางส่วนเพิ่งมาเคยเห็นฟักทองในยุคของนักเดินทางอย่างคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ช่วงประมาณคริสตศตวรรษที่ 15 นี่เอง

สำหรับชาวไอริชซึ่งเคยอาศัยอยู่แต่บนเกาะเล็กๆ พอเห็นฟักทองแล้วฟิน…เหนือคำบรรยายค่ะ ไม่ใช่เพราะตื่นใจกับวิตามินเอและเบต้าแคโรทีน แต่เพราะผลฟักทองมันทั้งใหญ่ ทั้งแน่น แต่เนื้อนุ่มพอดี แกะสลักด้วยมีดได้อย่างสบาย ไม่เหมือนหัวผักกาดกลมๆ สีขาวๆ อมแดง ที่ลูกเล็กและแข็งกว่าตั้งหลายเท่า

แต่บ้างก็เชื่อว่า เพราะสมัยนั้นหัวมันฝรั่งหรือหัวผักกาด (ที่เป็นของโปรดชาวไอริช) ยังไม่มีปลูกแพร่หลายในอเมริกา ทำให้จำต้องหาผักชนิดอื่นมาทดแทนต่างหาก

แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลไหน สุดท้ายการเปิดตัว“ตะเกียงคอลเล็คชั่นใหม่” ของแจ็ค ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากฟักทอง ก็เป๊ะ..และปัง! ถูกใจชาวไอริชสุดๆ

man wearing hoodie and mask
Photo by Ashutosh Sonwani on Pexels.com

จุดตะเกียงฟักทองไปทำไม?

“คืนฮาโลวีน”  คือ “คืนปล่อยผี” เป็นคืนที่ดวงวิญญาณต่างๆ สามารถออกมาเดินท่องโลกมนุษย์ได้อย่างอิสระ ชาวไอริชใช้การจุดตะเกียงเพื่อต้อนรับวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่อยากแวะมาเซย์ไฮกับลูกหลาน

จำนวนตะเกียงที่ถูกจุดจึงมักจะเท่ากับจำนวนดวงวิญญาณที่เขาอยากจะต้อนรับคืนนั้น

บ้างก็ว่าการแกะสลักใบหน้าปีศาจบนตะเกียงจะช่วยขับไล่วิญญาณของแจ็คจอมงก ที่อาจแอบย่องมาขโมยตะเกียงไปใช้ รวมถึงขับไล่ดวงวิญญาณร้ายอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเชิญด้วย

หน้ากากผีและทริคออร์ทรีต

การสวมหน้ากากผีก็เป็นที่นิยมในสมัยนั้นเหมือนกันค่ะ ชาวไอริชเชื่อว่าหน้ากากเป็นเทคนิคการพรางตัวเวลาต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน ถ้าบังเอิญเดินไปจ๊ะเอ๋วิญญาณร้ายเข้า จะได้เข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกัน แล้วไม่ทำร้ายกันเอง

เดี๋ยวนี้การแกะสลักใบหน้าโหดๆ บนฟักทอง การสวมหน้ากากผี และชุดแฟนซี เป็นแค่กิจกรรมสร้างสีสันในคืนฮาโลวีนมากกว่าค่ะ แม้แต่เพื่อนๆ ชาวอังกฤษและชาวไอริชที่ อ. ผึ้ง คุยด้วยก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือเอ่ยถึงตำนานแจ็คจอมงกอีกแล้ว

สำหรับ อ. ผึ้ง ผ่านคืนฮาโลวีนมาปีแล้วปีเล่า ไม่เคยคิดจะแกะสลักฟักทองกับฝรั่งเขาสักที เพราะเรามีแค่สองภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น หนึ่งคือรอต้อนรับแก๊งเด็กฝรั่งในชุดแฟนซีที่มาเคาะประตู แกล้งตกใจกับความหลอนพอเป็นพิธี (อันนี้ต้องซ้อมหน้ากระจกนิดนึง) แล้วแจกช็อคโกแล็ตให้แก๊งผีน้อยไป ใช่แล้วค่ะ…นี่แหละกิจกรรม “ทริก-ออร์-ทรีต” หรือคำที่เรียกในภาษาอังกฤษก็คือ “Trick or Treat”

และภารกิจสอง คือรอซื้อฟักทองลดราคาในวันรุ่งขึ้น ฟักทองผัด ซุปฟักทอง เทศกาลฮาโลวีนของ อ. ผึ้ง คือเทศกาลวิตามินเอบำรุงสายตานี่เอง (^-^)


บทความมีลิขสิทธิ์ : ขอบคุณที่ไม่คัดลอก หรือดัดแปลงเพื่อนำไปเผยแพร่นะคะ

สำหรับผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษแบบมือโปร เพื่อพัฒนาชีวิตการทำงานของคุณให้ก้าวขึ้นอีกระดับ ติดตามอ่านความรู้ดีๆ หรือลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษสำหรับธุรกิจ เทคนิคคำศัพท์ เทคนิคการพัฒนาสมอง และความจำ ได้ที่ Website : ajarnarada.com และ Facebook อ. ผึ้ง อารดา : English Brain